จากกรณีที่มีผู้ป่วยหลายรายเข้าโรงพยาบาลพร้อมกัน เนื่องจากดื่มสุราเถื่อน ตั้งแต่วันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา ตามที่นำเสนอไปอย่างต่อเนื่องไปแล้วนั้น
2พี่น้องทำเหล้าขาวอ้างได้สูตรจากเน็ต ซื้อเมทานอลผสมน้ำ “เจ๊ปู” ร่ำไห้ไม่คิดจะเป็นแบบนี้!

เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้พูดถึงเรื่องนี้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Jessada Denduangboripant ว่า “ห้ามนำเอาเมทานอล มาดื่มกินเด็ดขาด มิเช่นนั้นอาจถึงตายได้”

โดย อาจารย์เจษฎา ระบุข้อความว่า เรื่องนี้แสดงว่ายังมีคนที่ไม่รู้ถึงอันตรายจากการดื่มกิน “เมทานอล” เข้าไป จึงได้มีการแอบลักลอบนำมาทำเป็นสุราบริโภคกัน แทนที่จะเป็น “เอทานอล” ที่บริโภคได้ ทำให้เกิดเป็นอันตรายร้ายแรงขึ้น ดังเช่นในข่าว เรามาทำความรู้จักกับ “ภาวะเป็นพิษจากเมทานอล” เมทานอล (methanol) หรือเมทิลแอลกอฮอล์ เป็นแอลกอฮอล์ชนิดที่เป็นพิษต่อร่างกาย ปกติจะใช้เป็นตัวทำละลายในอุตสาหกรรม ไม่สามารถนำมาดื่มกินได้แบบ เอทานอล (ethanol) หรือเอทิลแอลกอฮอล์ ที่ใช้ทำเหล้าสุรา แต่ก็พบการลักลอบนำเอาเมทานอลมาทำเครื่องดื่ม หรือแอลกอฮอล์ทำความสะอาด เพราะเมทานอลมีราคาถูกกว่าเอทานอล หากนำทั้ง 2 สารมาผสมกัน จะทำให้ลดต้นทุนในการผลิตได้

สำหรับ “ภาวะเป็นพิษจากเมทานอล” ส่วนใหญ่เกิดจากการดื่มสุราปลอมหรือเหล้าเถื่อนต้มกันเอง ที่มีเมทานอลปนเปื้อนอยู่ หรือตั้งใจใช้แทนเอทานอลที่มีราคาสูงกว่าแต่บริโภคได้ และอาจส่งผลรุนแรงจนทำให้เกิดภาวะหายใจล้มเหลว ภาวะมีความเป็นกรดในเลือดสูงอย่างรุนแรง และเสียชีวิตได้ หรือถ้าผู้ป่วยได้รับเมทานอลเข้าสู่ร่างกาย ร่างกายก็จะถูกดูดซึมอย่างรวดเร็วภายใน 1 ชั่วโมง ส่วนใหญ่ประมาณ 95% จะถูกกำจัดที่ตับได้ด้วยเอนไซม์แอลกอฮอล์ดีไฮโดรจีเนส (alcohol dehydrogenase) เปลี่ยนเมทานอลเป็นฟอร์มาลดีไฮด์ (formaldehyde) แล้วถูกเปลี่ยนต่อเป็นกรดฟอร์มิก (formic acid) โดยเอนไซม์อัลดีไฮด์ ดีไฮโดรจีเนส (aldehyde dehydrogenase) แล้วร่างกายจะเปลี่ยนกรดฟอร์มิกเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งถูกกำจัดทางปอด แต่เนื่องจากร่างกายสามารถกำจัดเมทานอลได้แย่กว่าเอทานอลถึง 10 เท่า อาการของภาวะเป็นพิษจากเมทานอล จึงเกิดขึ้นจากการที่กรดฟอร์มิกเกิดสะสมในร่างกาย ซึ่งทำให้เกิดภาวะกรดจากกระบวนการเผาผลาญ (metabolic acidosis) และอาการพิษทางดวงตา (ocular toxicity)- หลังได้รับเมทานอล ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการได้ตั้งแต่ 1 ชั่วโมงถึง 3 วัน อาจมีอาการของทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน และปวดท้อง เกิดอาการพิษทางตา ตาพร่า ตามัว แพ้แสง เห็นภาพขาวไปหมด ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ และอ่อนเพลีย ในรายที่เป็นมากอาจมีอาการโคม่าและชัก

นอกจากนี้ อาจารย์เจษฎา ระบุข้อความอีกว่า ถ้าได้รับเมทานอลเป็นปริมาณสูงมากและรักษาไม่ทัน ผู้ป่วยมักเสียชีวิต โดยจุดสังเกตสำคัญ คือ หากดื่มสุราที่สงสัยเข้าไปสักระยะหนึ่งแล้ว จะเกิดมีอาการวิงเวียนศีรษะ อาเจียน ตาพร่ามัวและมองไม่เห็น จึงให้รีบเข้าพบแพทย์โดยทันที (แตกต่างจากการมึนเมาแอลกอฮอล์ตามปกติ ซึ่งจะเริ่มมีอาการในช่วงที่ดื่ม) และการรักษาพยาบาลขั้นต้น คือ การประคับประคองผู้ป่วยเรื่องการหายใจ แต่ถ้าพบผู้ป่วยที่เพิ่งดื่มสุราที่มีเมทานอลมาไม่นาน อาจจะช่วยด้วยการทำให้อาเจียน แล้วส่งแพทย์โดยด่วนแถมเรื่องวิธีการทดสอบต่างๆ ที่เคยรวบรวมไว้สมัยโรคโควิด-19 ระบาด

โดยจะสามารถตรวจสอบได้หรือไม่ ว่าแอลกอฮอล์สำหรับฆ่าเชื้อโรคที่ซื้อมานั้นเป็น “เอทานอล” ไม่อันตราย หรือเป็นของปลอมที่เป็น “เมทานอล” ที่อันตรายซึ่งมีดังนี้
1. วิธีที่แม่นยำที่สุดคือ “การนำไปวัดจุดเดือด” ด้วยการใส่ในภาชนะทางเคมี ตั้งไฟแล้วใช้เทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิเมื่อถึงจุดเดือด เอทานอลจะมีจุดเดือดประมาณ 78 องศาเซลเซียส ขณะที่เมทานอลจะมีจุดเดือดประมาณ 65 องศา
2. วิธีที่ง่ายแต่ไม่แม่นยำ คือ การดมกลิ่นเอทานอลจะมีกลิ่นแบบแอลกอฮอล์ ที่แรงกว่าเมทานอลมาก แต่เมทานอลจะดมแล้วแสบจมูกมากกว่า (อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ต้องระวัง อย่าสูดดมเข้าไปมากเกินไป เพราะจะเป็นพิษต่อร่างกายได้)
3. ทำปฏิกิริยาไอโอโดฟอร์ม iodoform reaction โดยการเอาตัวอย่างแอลกอฮอล์ใส่หลอดทดลอง เอาไปเติมสารละลายไอโอดีน เช่น เบตาดีน ผสมกับโซเดียมไฮดรอกไซด์ ก็คือ โซดาไฟ ที่แช่หลอดในอ่างน้ำอุ่น เขย่าหลอดแล้วทิ้งไว้ซัก 2 นาที ถ้าเป็นเอทานอล จะมีตะกอนสีเหลืองของหมู่ไตรไอโอโดมีเทน CHI3 (triiodomethane) เกิดขึ้น ส่วนเมทานอลจะไม่มีตะกอน การทดลองนี้อาจจะทำค่อนข้างยากหน่อย
4. ลองจุดไฟ ดูลักษณะสีของเปลวไฟ เปรียบเทียบกับในคลิปวิดีโอนี้ https://youtu.be/cxd_CH2NIWE ซึ่งเอทานอลจะติดไฟโชติช่วงและสว่างเป็นสีเหลืองมากกว่า ขณะที่เมทานอล (ภาพด้านซ้าย) จะติดไฟน้อยกว่า และแสงจะออกไปทางสีฟ้าแต่วิธีทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะใช้ทดสอบใน “แอลกอฮอล์ที่เป็นของเหลวบริสุทธิ์” ไม่ใช่ในรูปของสุราผสมยาดอง หรือ เจลแอลกอฮอล์ ซึ่งจะมีสารอื่นเข้ามาปน และทำให้ผลการทดลองผิดเพี้ยนได้

ขอบคุณข้อมูล : Jessada Denduangboripant และ ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี 
ขอบคุณคลิป