นโยบายดังกล่าว จะเป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขของไทยในอนาคต เช่น ประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ การออกใบรับรองแพทย์ดิจิทัล ใบสั่งยาและใบสั่งแล็บออนไลน์ การแพทย์และเภสัชกรรมทางไกล การนัดหมายออนไลน์ เป็นต้น เป้าหมายมุ่งสู่การเป็น โรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital) แต่ปัจจุบันยังพัฒนาไปไม่ถึงการให้บริการลักษณะดังกล่าว

ล่าสุด ในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขแจงความพร้อมระบบบริการในการขับเคลื่อนนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่ สุขภาพดีเริ่มที่ใกล้บ้าน กรุงเทพมหานคร” โดยเป็นการใช้สิทธิบัตรทองเข้ารับบริการสุขภาพในหน่วยปฐมภูมิ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้เริ่ม “คิกออฟ” โครงการ เนื่องจากต้องรอความพร้อมของรัฐบาลใหม่

แล้ว “30 บาทรักษาทุกที่” ขณะนี้ใช้ได้ที่ไหนบ้างใน กทม.?

“ทีมข่าวชุมชนเมือง” สอบถามความชัดเจนไปยัง น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. ถึงการใช้สิทธิเข้ารับบริการด้านสุขภาพภายใต้นโยบายดังกล่าวในหน่วยปฐมภูมิของ กทม. ซึ่งสรุปว่าความร่วมมือขยายบริการ 30 บาทรักษาทุกที่ ระหว่าง กทม. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกระทรวงสาธารณสุขครั้งนี้ เป็นส่วนที่เข้ามาสนับสนุนการให้บริการสุขภาพในพื้นที่ ทำให้ผู้ใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น

โดยหน่วยปฐมภูมิของ กทม. ที่เข้าร่วมคือ ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง ประชาชนสามารถเข้ารับบริการด้านสุขภาพได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขที่ติด “ตราสัญลักษณ์ใหม่ 30 บาทรักษาทุกที่”

นอกจากนี้ ยังสามารถเข้ารับบริการ ณ หน่วยปฐมภูมิที่ติด “ตราสัญลักษณ์ใหม่ 30 บาทรักษาทุกที่” ตามหน่วยนวัตกรรมบริการสาธารณสุข 7 วิชาชีพ สปสช. ที่อยู่ใน กทม. ได้อีกด้วย

“การเข้าใช้บริการด้านสุขภาพสำหรับประชาชนคือ เจ็บป่วยเบื้องต้นให้มองหา “ตราสัญลักษณ์ใหม่ 30 บาทรักษาทุกที่” หากใกล้บ้านมีร้านขายยาก็เข้าไปปรึกษาเภสัชกรเพื่อรับยา แต่ถ้าหากคิดว่าอาการเริ่มมากขึ้นอยากพบแพทย์ ให้มองหาตราสัญลักษณ์นี้เช่นกัน ตามหน่วยนวัตกรรมบริการสาธารณสุข 7 วิชาชีพ สปสช. ที่อยู่ใน กทม. หรือคลินิกเวชกรรม หรือไปที่ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม.”

รองผู้ว่าฯ กทม. ระบุ นโยบายดังกล่าวจะทำให้ ประชาชนที่มีสิทธิบัตรทอง แม้จะอยู่ภูมิลำเนาอื่นแต่ทำงานอยู่ใน กทม. ก็สามารถเข้าใช้บริการที่ ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. ได้ ข้อดีอีกเรื่องของการเข้ารับยา รับคำปรึกษาด้านสุขภาพเบื้องต้นในหน่วยปฐมภูมิคือ สถานที่ไม่ไกลจากบ้าน จึงทำให้ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง หรือเสียค่าใช้จ่ายน้อย คนไม่เยอะ รอคิวพบแพทย์ไม่นาน และมีเวลาพูดคุยสอบถามอาการป่วยกับแพทย์ได้มากขึ้น ไม่ต้องไปแออัดอยู่ที่โรงพยาบาล

“ในวิถีทางการแพทย์ ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่เราป่วยน้อย เราควรไปหาหน่วยปฐมภูมิ อาทิ ไปรับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้าน ซึ่งเภสัชกรประจำร้านสามารถจ่ายยาให้ได้ หากไม่ใช่อาการป่วยซ้ำซ้อน หรือคลินิกใกล้บ้าน เพื่อทำการรักษาก่อน แต่หากเกิดขีดความสามารถในการรักษา หน่วยปฐมภูมินั้นๆ ก็จะทำใบส่งตัวมารักษาต่อที่โรงพยาบาล จึงส่งผลให้ความหนาแน่นในโรงพยาบาลลดลง” รองผู้ว่าฯ กทม. ระบุ

แล้วหน่วยนวัตกรรมบริการสาธารณสุข 7 วิชาชีพ สปสช. ใน กทม. คือที่ไหนบ้าง?

จากการตรวจสอบหน่วยดังกล่าว ประกอบด้วย คลินิกชุมชนอบอุ่น คลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น คลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น คลินิกแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น ร้านยาชุมชนอบอุ่น และคลินิกการพยาบาลชุมชนอบอุ่น

ส่วนอาการที่ผู้ที่ถือสิทธิบัตรทองเข้ารับบริการฟรี มี ทั้งหมด 16 อาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ได้แก่ อาการปวดหัว เวียนหัว, ปวดข้อ, เจ็บกล้ามเนื้อ ,ไข้ ไอ ,เจ็บคอ, ปวดท้อง, ท้องเสีย, ท้องผูก ถ่ายปัสสาวะขัด, ปัสสาวะลำบาก, ปัสสาวะเจ็บ, ตกขาวผิดปกติ, อาการทางผิวหนัง ผื่น คันบาดแผลความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตา และความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับหู.

ทีมข่าวชุมชนเมืองรายงาน