เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 18 ต.ค. นายประกอบ วงศ์มณีรุ่ง รอง ผวจ.ราชบุรี เป็นประธานเปิดการประชุมปฐมนิเทศโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 1) ในรูปแบบการสัมมนาทางไกลผ่านระบบ Zoom Meeting โครงการสำรวจและออกแบบสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลองบนทางหลวงหมายเลข 4 (สะพานสิริลักขณ์) ของกรมทางหลวง (ทล.) เพื่อนำเสนอข้อมูลโครงการ ความเป็นมาของโครงการ วัตถุประสงค์ของการศึกษา ขอบเขตการศึกษา และแนวคิดเบื้องต้นในการพัฒนาโครงการ ให้กลุ่มเป้าหมายได้รับทราบ พร้อมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ธุรกิจเอกชน และภาคประชาชนเข้าร่วมการประชุม

โครงการดังกล่าว ทล. ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท ซีวิลดีไซน์แอนด์คอนซัลแตนส์ จำกัด บริษัท ธารา ไลน์ จำกัด และบริษัท อินทิเกรเทด เอนจิเนียริ่ง คอนซัลแทนท์ จำกัด ดำเนินการศึกษาโครงการ ระยะเวลา 450 วัน เพื่อปรับปรุงและแก้ไขปัญหาจราจรบนสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลองบนทางหลวงหมายเลข 4 (สะพานสิริลักขณ์) และบริเวณแยกโคกหม้อ เนื่องจากเป็นเส้นทางสายหลักในการเดินทางเข้าสู่ตัวเมืองราชบุรี แต่เนื่องด้วยปัจจุบันสะพานดังกล่าวมีสภาพชำรุดทรุดโทรมและมีขนาดเพียง 4 ช่องจราจร ไม่สามารถรองรับปริมาณจราจรได้เพียงพอ ก่อให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ทางและประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งดำนินการออกแบบรายละเอียด (Detailed Design) ประมาณราคา และศึกษาพร้อมประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

ตลอดแนวเส้นทางของโครงการ มีจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณ กม.ที่ 98+000 ในพื้นที่ ต.โคกหม้อ และสิ้นสุดโครงการบริเวณ กม.ที่ 100+200 ในพื้นที่ ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี เบื้องต้นระยะทางประมาณ 2 กม. โดยโครงการครอบคลุมพื้นที่ 5 ตำบล ในเขตอำเภอเมือง จ.ราชบุรี ได้แก่ ต.หน้าเมือง ต.เจดีย์หัก ต.หลุมดิน ต.โคกหม้อ และ ต.พงสวาย

สำหรับแนวคิดการออกแบบและปรับปรุงโครงการ แบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้ 1.แนวคิดการออกแบบและปรับปรุงสะพานสิริลักขณ์ ปรับปรุงสะพานจากเดิมที่มีขนาด 4 ช่องจราจร เป็น 8 ช่องจราจร (ไป-กลับ) ช่วยให้ลักษณะทางกายภาพของสะพานและถนนไม่เป็นคอขวด เพิ่มประสิทธิภาพการจราจร โดยมีรูปแบบทางเลือกเบื้องต้นที่มีความเหมาะสม ดังนี้ รูปแบบทางเลือกที่ 1 ก่อสร้างสะพานใหม่ทดแทนสะพานเดิมทั้ง 2 สะพาน โดยคงสะพานเดิมฝั่งซ้ายไว้ เพื่อใช้สัญจรระหว่างการก่อสร้าง แล้วก่อสร้างสะพานใหม่ขนาด 4 ช่องจราจรฝั่งซ้ายก่อน และจึงสร้างสะพานใหม่ฝั่งขวาอีก 4 ช่องจราจร แล้วจึงเลิกใช้สะพานเก่า

ส่วนรูปแบบทางเลือกที่ 2 ก่อสร้างสะพานใหม่ทดแทนสะพานเดิมทั้ง 2 สะพาน โดยทำการก่อสร้างสะพานใหม่ขนาด 4 ช่องจราจรฝั่งซ้ายก่อน เพื่อให้มีทางสัญจรระหว่างก่อสร้าง แล้วจึงรื้อสะพานเดิมทั้ง 2 สะพานออก จากนั้นจึงก่อสร้างสะพานใหม่ขนาด 4 ช่องจราจรฝั่งขวา รูปแบบทางเลือกที่ 3 ก่อสร้างสะพานใหม่ทดแทนสะพานเดิมทั้ง 2 สะพาน โดยทำการก่อสร้างสะพานใหม่ 1 สะพาน ขนาด 8 ช่องจราจร ทดแทนสะพานเดิม

โดยรื้อสะพานเก่าฝั่งซ้ายก่อน เพื่อให้เหลือสะพานฝั่งขวาไว้สัญจรระหว่างก่อสร้าง 3 ช่องจราจร เมื่อสะพานใหม่สร้างเสร็จ จึงค่อยรื้อสะพานเก่าฝั่งขวา รูปแบบทางเลือกที่ 4 ก่อสร้างสะพานใหม่ทดแทนสะพานเดิมทั้ง 2 สะพาน โดยทำการก่อสร้างสะพานใหม่ 1 สะพาน ขนาด 8 ช่องจราจร ทดแทนสะพานเดิมเช่นเดียวกับทางเลือกที่ 3 แต่ปรับแนวศูนย์กลางทางให้ตรงกับทางแยกโคกหม้อแต่ระหว่างก่อสร้างจะไม่เหลือช่องจราจรเดิมใช้สำหรับสัญจร เนื่องจากต้องรื้อสะพานเก่าทั้ง 2 สะพานในเวลาเดียวกัน

และ 2.แนวคิดการออกแบบและปรับปรุงบริเวณแยกโคกหม้อ โดยปรับปรุงสะพานข้ามทางรถไฟ (แยกโคกหม้อ) จากเดิมที่มีขนาดความกว้าง 2 ช่องจราจร เป็น 3 ช่องจราจร โดยขยายเพิ่มเติมข้างละ 1 ช่องจราจร พร้อมไหล่ทางด้านใน ทั้งนี้ด้านการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่ปรึกษาโครงการฯ จะดำเนินการกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไข เพื่อให้การดำเนินงานโครงการเกิดผลกระทบต่อสภาพสิ่งแวดล้อมและประชาชนให้น้อยที่สุด คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปี และใช้งบประมาณก่อสร้างประมาณ 900 ล้านบาท

ภายหลังการประชุมครั้งนี้จะรวบรวมข้อมูลความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนนำมาพิจารณาประกอบการศึกษาของโครงการ พร้อมทั้งดำเนินการจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อประชาสัมพันธ์รายละเอียดข้อมูลโครงการไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่โครงการได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง โดยผู้สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าและรายละเอียดของโครงการฯ ได้ 3 ช่องทาง ได้แก่ 1.เว็บไซต์  www.hw4-maeklongbridge.com 2.แฟนเพจเฟซบุ๊ก : โครงการสำรวจและออกแบบสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลองบนทางหลวงหมายเลข 4  3.Line Official : @hw4maeklongbridge