เมื่อวันที่ 16 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.สุขวิชญาณ์ นสมทรง ผอ.เขตปทุมวัน กล่าวถึงกรณีเกิดเหตุต้นไม้ใหญ่บนทางเท้าริมถนนบรรทัดทอง บริเวณปากซอยจุฬาลงกรณ์ 34 เขตปทุมวัน หักโค่นลงมาบนถนน ภายหลังฝนตกหนักและมีลมกระโชกแรงว่า จากการตรวจสอบ พบว่า ต้นไม้ที่โค่นล้มคือ ต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ ที่ระบบรากและลำต้นส่วนโคนที่อยู่ใต้ผิวดินมีเนื้อไม้ผุ เปื่อยยุ่ยเป็นโพรงอยู่ด้านใน ไม่สามารถมองเห็นและตรวจสอบพบได้จากภายนอก ซึ่งต้นไม้มีรากส่วนที่สมบูรณ์แผ่กระจายอยู่บ้างเพียงเล็กน้อย มีขนาดไม่ใหญ่ ทำให้ต้นไม้ขาดความมั่นคงแข็งแรง ประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าวและช่วงที่ใกล้เคียงก่อนหน้านั้นมีฝนตกหนักต่อเนื่อง
ทั้งนี้ จากการสอบถามประชาชนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงทราบว่า ช่วงเวลาดังกล่าว มีลมพายุรุนแรง จึงเป็นสาเหตุให้ต้นไม้โค่นล้มกีดขวางหน้ารถบรรทุกแบบฉับพลัน ทำให้ถูกเฉี่ยวชนจนได้รับความเสียหาย โดยหลังเกิดเหตุ หน่วยบริการเร่งด่วน (หน่วย BEST) ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาร่วมกับเจ้าหน้าที่สถานีดับเพลิงและกู้ภัยบรรทัดทอง โดยตัดย่อยซากของกิ่งไม้ต้นไม้ที่โค่นล้มออกกองไว้บริเวณริมทางเท้าที่เกิดเหตุ
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ สำนักงานเขตฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่สาธารณะที่อยู่ในความดูแลของ กทม. ตลอดแนวถนนบรรทัดทองในระดับการประเมินความเสี่ยงอันตรายจากต้นไม้ด้วยสายตา (Visual tree assessment : VTA) ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการตัดโค่น แต่ได้ตัดแต่งกิ่งไม้ตามแผน เพื่อความปลอดภัยเป็นประจำ
อย่างไรก็ตาม สำนักงานเขตฯ ได้เพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่สาธารณะที่อยู่ในความดูแลของ กทม. ตลอดแนวถนนบรรทัดทอง รวมทั้งดำเนินการตามแนวทางบำรุงรักษาต้นไม้ในพื้นที่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุหักโค่นล้ม หรือเหตุที่อาจทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยลักษณะดังกล่าว และจะได้ประสานสำนักสิ่งแวดล้อม เพื่อขอรุกขกรช่วยสำรวจและตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของต้นไม้ในระดับการประเมินขั้นพื้นฐาน รวมถึงประสานหน่วยงานเอกชน เพื่อสำรวจและตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของต้นไม้ ในระดับการประเมินขั้นสูง เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กล่าวว่า สสล. ได้แจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯ ทั้งเรื่องการดูแล เฝ้าระวังต้นไม้ใหญ่ในที่สาธารณะที่อาจได้รับผลกระทบจากลมพายุ โดยให้สำนักงานเขต 50 เขต ที่รับผิดชอบดูแลต้นไม้บนถนนสายหลัก สายรอง ทางเท้า สวนหย่อม สวนสาธารณะและสวน 15 นาที รวมทั้งหน่วยงานในสังกัดที่รับผิดชอบสวนสาธารณะและต้นไม้บนถนนสายสำคัญ
โดยให้จัดส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจตราพื้นที่ในความรับผิดชอบ เพื่อตรวจสอบความสมบูรณ์แข็งแรงของต้นไม้บนถนน ทางเท้า และที่สาธารณะ หากพบความเสี่ยงต่อการหักโค่น หรือพายุลมกระโชกแรง ให้ตัดแต่งกิ่งแห้ง กิ่งผุ ตรวจสอบลำต้น หาร่องรอยการเข้าทำลายของแมลงและตัดแต่งต้นไม้ตามหลักวิชาการและงานรุกขกรรม และให้เร่งสำรวจประเมินความเสี่ยงของต้นไม้เพิ่มเติมกรณีอาจมีพายุลมแรงในเวลาอันใกล้ โดยตัดแต่งกิ่งต้นที่ทรงพุ่มหนาทึบต้านลม เพื่อแก้ไขทรงพุ่มต้นไม้ใหญ่โดยตัดสางโปร่งให้ลมพัดผ่านได้ ลดการฉีกหัก โค่นล้ม
ทั้งนี้ กทม. ได้เตรียมความพร้อมทั้งอุปกรณ์ บุคลากรผู้เชี่ยวชาญที่ดูแลด้านรุกขกรรมต้นไม้และผู้ปฏิบัติงานบนต้นไม้ ทั้งไม้ยืนต้นและไม้ดอกไม้ประดับที่ผ่านการอบรมแล้วทั่วกรุงเทพฯ รวมทั้งจัดเตรียมหน่วย BEST แก้ไขเหตุต้นไม้หักโค่นกีดขวางถนนสายสำคัญในความรับผิดชอบและแจ้งให้สำนักงานเขต 50 เขต จัดหน่วย BEST จัดเจ้าหน้าที่รับแจ้งเหตุต้นไม้หักโค่น 24 ชั่วโมง พร้อมเครื่องมือ และยานพาหนะออกปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ต้นไม้หักโค่นกีดขวางถนน หรือหักโค่นทับบ้านเรือนประชาชนได้ทันทีที่เกิดเหตุ เพื่อเร่งเปิดการจราจรให้ประชาชนสัญจรผ่าน หรือบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนได้เร็วที่สุด
ขณะเดียวกันได้ซักซ้อมแผนการช่วยเหลือฉุกเฉินและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันปฏิบัติการ เช่น สถานีตำรวจพื้นที่ สำนักสิ่งแวดล้อม และสถานีดับเพลิงและบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่ หากเกิดเหตุต้นไม้หักโค่นจากพายุลมแรงกีดขวางถนนในที่สาธารณะ ถนน หรือในย่านชุมชน
นอกจากนี้ หากประชาชนพบเห็นต้นไม้ในที่สาธารณะที่อาจเสี่ยงต่อการหักโค่นจากพายุลมกระโชกแรง สามารถแจ้งข้อมูลและพิกัดต้นไม้ได้ในระบบ Traffy Fondue ทาง https://citydata.traffy.in.th/ และหากประชาชนมีความประสงค์ขอรับบริการตัดแต่งต้นไม้ในบ้าน สามารถติดต่อได้ที่ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ สำนักงานเขตพื้นที่ที่บ้านเรือนตั้งอยู่ โดยมีอัตราค่าบริการตามระเบียบที่ กทม. กำหนด.