ความเป็นสายมูของคนไทย เรียกได้ว่า อยู่ในสายเลือดไปแล้ว แม้ปัจจุบันจะยุคของเทคโนโลยีและดิจิทัล แต่ความเชื่อเกี่ยวกับการมูเตลูก็ยังมีอิทธิพล เป็นที่พึ่งได้รับความนิยมอยู่เสมอ
จากข้อมูล แสนรู้ ผู้เชี่ยวชาญด้านโซเชียลดาต้า ได้เปิดเผยข้อมูลการวิเคราะห์เสียงในโซเชียลมีเดียจาก Social Listening tools เกี่ยวกับ มูเตลู ในช่วงปีนี้ ช่วงวันที่ 1 ม.ค.-16 ก.ย. 2567 พบว่า มีคนไทยถึง 3,917 ล้านเอ็นเกจเมนต์ ที่ให้ความสนใจมูเตลู และทำให้เกิดเป็น มูเก็ตติ้ง (Muketing) ที่นำความเชื่อมาปรับใช้กับการตลาดในแบรนด์ชั้นนำ
โดยมาจากใน Tiktok จำนวน 4,499,934,898 เอ็นเกจเมนต์ คิดเป็น 94.5%, Youtube จำนวน 218,400,707 คิดเป็น 4.6%, Facebook จำนวน 19,233,319 เอ็นเกจเมนต์ คิดเป็น 0.4% X (Twitter) จำนวน 14,130,965 เอ็นเกจเมนต์ คิดเป็น 0.3% และ Instagram จำนวน 9,541,644 เอ็นเกจเมนต์ คิดเป็น 0.2%
ในแง่ความรู้สึก (Sentiment) เกี่ยวกับ มูเตลู เสียงเชิงบวกของการกล่าวถึงเกี่ยวกับมูเตลู คิดเป็น 190 ล้านอ็นเกจเมนต์ จากความคิดเห็นทั้งหมด พบว่าส่วนใหญ่กล่าวว่าการมูเตลูทำให้ผลลัพธ์ต่างๆ ดีขึ้น หรือ ประสบความสำเร็จตามที่คาดหวัง โดยเฉพาะด้านโชคลาภและการเสี่ยงโชค นอกจากนี้ บางส่วนที่ยังไม่บรรลุความคาดหมาย ก็ถือว่าการมูเตลูนั้น เป็นเหมือนสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจที่ทำให้เกิดความสบายใจมากขึ้น หรือมีแรงจูงใจในการทำสิ่งต่างๆ มากขึ้น เป็นต้น
ทางกลับกัน ความเชื่อเหล่านี้ก็เป็นเหมือนดาบสองคม ที่เป็นช่องโหว่ให้มิจฉาชีพนำไปใช้ในการหลอกลวงผู้บริโภค เช่น การแอบอ้างเป็นร่างทรงผู้วิเศษที่มีความสามารถในการหยั่งรู้ต่างๆ หรือแอบอ้างเป็นบัญชีสายบุญ เพื่อหลอกให้โอนเงินทำบุญ เป็นต้น โดยจากข้อมูลพบว่าผลตอบรับเชิงลบคิดเป็นสัดส่วนเพียง 4.8 ล้านเอ็นเกจเมนต์
พฤติกรรมการมูเตลู หากเจาะลึกไปในแต่ละ Generation พบว่า Gen Z (อายุ 12-27 ปี) เป็นวัยที่ให้ความสนใจ เมเตลู มากที่สุด ถึง 50% หรือ 2,380 ล้านเอ็นเกจเมนต์ ส่วนใหญ่เป็นความสนใจเรื่องของ องค์เทพ วอลเปเปอร์มงคล สีมงคลรวมไปถึงการแต่งหน้าตามสีมงคล และมุ่นเน้นการขอพรในเรื่องความรัก ขอให้สมหวังเรื่องความรัก เจอเนื้อคู่ และบางส่วนขอให้มีเสน่ห์เป็นที่รัก
ถัดมาเป็น Gen Y (อายุ 28-43 ปี) มีความสนใจ 26% หรือ 1,236 ล้านเอ็นเกจเมนต์ เป็นการให้ความสนใจในการมูเตลูกับองค์เทพและพระหรือวัด ไปกราบไหว้เพื่อขอพรตามสถานที่ต่างๆ ทั้งวัดและสถานที่ศักดิ์สิทธ์ตามความเชื่อ รวมไปถึงการบูชาเครื่องราง โดยพบว่า GenY ส่วนใหญ่เป็นการมู เพื่อให้ประสบความสำเร็จทั้งในเรื่องงานและการดำเนินชีวิต เช่น เรื่องครอบครัว ลูก และคนรอบตัว
และ Gen X (อายุ 44-59 ปี) มีความสนใจ 12% หรือ 502 ล้านเอ็นเกจเมนต์ มักมีความสนใจการมูเตลู พระหรือวัดและฮวงจุ้ย การไปกราบไหวสิ่งศักดิ์สิทธิ์และความสนใจเรื่องทำเลที่อยู่อาศัย และคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีการมูเตลูเพื่อโชคลาภ คาดหวังการถูกลอตเตอรี่ และรวมไปถึงการขอพรหายจากโรคหรือมีสุขภาพที่แข็งแรง เป็นต้น
“มูเก็ตติ้ง” ได้ขยับมาเป็นกระแสหลักในไทย ที่แบรนด์ชั้นนำจากกลุ่มธุรกิจใหญ่อย่างธนาคาร ยังเลือกใช้กลยุทธ์นี้ โดยการนำมาปรับใช้เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการที่สามารถสร้างความสนใจให้กับผู้บริโภคได้ โดยการผสมผสานระหว่างความเชื่อเข้ากับผลิตภัณฑ์ เช่น
- ธนาคารกสิกรไทย ได้นำเสนอบัตรเดบิตลายองค์เทพ และยังมีการออก วอลเปเปอร์ และใบสลิปโอนเงินเป็นลายองค์เทพ ซึ่งเป็นการใช้ลวดลายขององค์เทพที่เป็นเคารพนับถือ เช่น พระพิฆเนศ, ท้าวเวสสุวรรณ และพระแม่ลักษมี โดยรับความสนใจกว่า 2.7 ล้านเอ็นเกจเมนต์
- ธนาคารกรุงไทย ได้มีการออกบัตรเดบิตสายมู โดยเป็นการออกลายบัตรที่มีลายอัตลักษณ์สิ่งศักดิ์สิทธิ์ อาทิ ท้าวเวสสุวรรณ, ไอ้ไข่ วัดเจดีย์ และ พญานาค เป็นต้น เพื่อเสริมความเป็นสิริมงคล โดยรับความสนใจกว่า 5.3 ล้านอ็นเกจเมนต์
- ธนาคาร แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มีการ ออกโปรโมชั่นสำหรับลูกค้าใหม่บัญชีออมทรัพย์ดิจิทัล หรือลูกค้าใหม่สินเชื่อส่วนบุคคล Happy Cash รับบัตรแรบบิท Success Infinite Prestige Collection “4 มหาเทพ” พระพิฆเนศ, พระพรหม, พระแม่ลักษมี, เจ้าแม่กวนอิม โดยรับความสนใจกว่า 2.3 แสนเอ็นเกจเมนต์
กระแส “มูเตลู” ที่กำลังมาแรงในปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อและความหวังของผู้คนในการแสวงหาสิ่งที่ดีกว่าในชีวิต และการมูเตลู ก็เป็นหนึ่งในวิธีการที่ผู้คนเลือกใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น และกลายเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่น่าสนใจ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของความเชื่อเรื่องมูเตลูในสังคมไทยปัจจุบัน และการปรับตัวของภาคธุรกิจเพื่อตอบสนองต่อความเชื่อนี้