รายงานด้านธรณีวิทยาฉบับใหม่ล่าสุด เผยผลการสำรวจที่น่าแปลกใจ ซึ่งก็คือการพบว่ายอดเขาเอเวอเรสต์ ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก ยังคง “เติบโต” และมีความสูงเพิ่มขึ้นทุกปี โดยมีสาเหตุมาจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเกือบ 90,000 ปีที่แล้ว
รายงานของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยธรณีศาสตร์แห่งประเทศจีน ชี้ว่า เทือกเขาหิมาลัยที่มีอายุถึง 50 ล้านปีแล้ว และมีความสูงในปัจจุบันคือ 29,032 ฟุตเหนือระดับน้ำทะเล ยังคง “เติบโต” หรือมีความสูงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ระหว่าง 49-164 ฟุต ในช่วงเวลา 89,000 ปีที่ผ่านมา
“การศึกษาของเราแสดงให้เห็นว่า แม้แต่ยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก ก็ยังคงได้รับผลจากกระบวนการทางธรณีวิทยาที่กำลังดำเนินอยู่ตลอดเวลา ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อความสูงของมันได้ ในช่วงเวลาที่ค่อนข้างสั้นในเชิงธรณีวิทยา” ศาสตราจารย์ไต้จินเกิน ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาของมหาวิทยาลัยธรณีศาสตร์ของจีน ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว
ส่วนสาเหตุของการเติบโตของยอดเขาเอเวอเรสต์นั้น มีความเกี่ยวข้องกับแม่น้ำอรุณที่อยู่ทางตอนเหนือของภูเขา เมื่อหลายหมื่นปีก่อน เส้นทางของแม่น้ำมีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากการกัดเซาะ ทำให้แม่น้ำอรุณเชื่อมต่อกับแม่น้ำที่อยู่ในระดับพื้นดินที่ต่ำกว่า และกลายเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายแม่น้ำโกศีที่อยู่ใกล้เคียง
รายงานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร Nature Geoscience เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “การจับยึดของแม่น้ำ” (Rier capture) ซึ่งทำให้เกิดการกัดเซาะจนเป็นช่องเขาที่ระดับฐานของแม่น้ำอรุณ ดร.แมทธิว ฟ็อกซ์ หนึ่งในผู้เขียนรายงานฉบับนี้ชี้ว่า “เมื่อถึงตอนนั้น จะมีน้ำเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมหาศาล ที่ไหลผ่านไปตามแม่น้ำอรุณ เหตุการณ์เช่นนี้จะช่วยพัดพาตะกอนไปได้มากขึ้น และกัดเซาะร่องน้ำมากขึ้น และไหลตัดตรงลงไปที่ก้นหุบเขา”
ผลลัพธ์ท้ายสุดของปรากฏการณ์ตามธรรมชาตินี้ ทำให้เปลือกโลกมีน้ำหนักลดลง ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป ก็จะส่งผลให้พื้นที่โดยรอบดีดตัวยกสูงขึ้น เป็นสิ่งที่เรียกว่าการคืนตัวของผืนทวีป (Continental Rebound) ซึ่งส่งผลให้ยอดเขาเอเวอเรสต์สูงขึ้นราว 0.16-0.53 มิลลิเมตรทุก ๆ ปี
อย่างไรก็ตาม ศจ.ไต้ กล่าวว่า ผลกระทบเช่นนี้จะไม่คงอยู่ตลอดไป และชี้ว่ากระบวนการนี้ จะดำเนินต่อไปจนกว่าระบบแม่น้ำจะเข้าสู่สภาวะสมดุลใหม่
แม้แต่นักวิชาการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการวิจัย ก็ยังรู้สึกประทับใจกับการเปิดเผยนี้ ศาสตราจารย์มิคาเอล อัททาล จากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ แสดงความเห็นว่า ความพิเศษของรายงานวิจัยครั้งนี้ ก็คือสามารถแสดงให้เห็นว่า การกัดเซาะที่เกิดจากการจับยึดของแม่น้ำ สามารถทำให้เปลือกโลกเกิดการตอบสนองที่เห็นได้ชัดแจ้ง
เขายังตั้งข้อสังเกตว่า การที่พื้นที่ที่มีขนาดเทียบเท่ากรุงลอนดอน และปริมณฑล สูงขึ้นหลายสิบเมตรในเวลาหลายหมื่นปีนั้น ถือว่า “รวดเร็ว” มากในเชิงธรณีวิทยา
ที่มา : nypost.com
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES