ปัจจุบันสถานประกอบการภาคอุตสาหกรรม มีการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้ามามีส่วนสำคัญในการผลิตสินค้า และอำนวยความสะดวกในการทำงาน เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และปริมาณตามที่ต้องการ มีข้อผิดพลาดน้อยลง ถือเป็นโลกอุตสาหกรรมสมัยใหม่ โดยเฉพาะสถานประกอบการที่มีหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม (Robotics) ซึ่งเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายหลักของรัฐบาลที่ให้การส่งเสริมนำหุ่นยนต์ หรือโรบอท เข้ามาช่วยทำงาน
สำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน, สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, มหาวิทยาลัยรามคำแหง, มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์, และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ได้เล็งเห็นความสำคัญของเรื่องดังกล่าว จึงได้จัดการแข่งขันการควบคุมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ครั้งที่ 3 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขึ้น ระหว่างวันที่ 16-18 ต.ค.นี้ ที่ Hall 1 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร โดยมีรองศาสตราจารย์ดร.เสถียร ธัญญศรีรัตน์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นครั้งนี้ และมี Dr. Norbert Voelker, CEO of Didacta Association ครู อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษาของสถานศึกษาอาชีวศึกษาสังกัด สอศ. และสถาบันการศึกษาชั้นนำดังกล่าว ร่วมเป็นเกียรติฯ
ภายในงานนอกจากจะมีการแข่งขันการแข่งขันการควบคุมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ของนักศึกษาจากสถานศึกษาต่างๆ แล้ว ยังมีการจัดงานมหกรรมแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา โดยได้นำนวัตกรรม โซลูชั่นใหม่ๆ ให้ทดลองใช้พร้อมจำหน่ายในราคาพิเศษ รวมถึงพาวิลเลี่ยนพิเศษจากประเทศเยอรมัน ฮ่องกง จีน และเกาหลีใต้ ภายใต้งาน didacta asia 2024 โดยมีบูธโชว์นวัตกรรมการศึกษาแห่งอนาคต จำนวน 88 บูธ
รองศาสตราจารย์ ดร.เสถียร เปิดเผยว่า การแข่งขันจัดขึ่นใน 7 ประเภท ประกอบด้วย ประเภทที่ 1 การแข่งขันการควบคุมหุ่นยนต์เชื่อมอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยี CMT (Robot Welding) ประเภทที่ 2 การแข่งขันการเขียนโปรแกรมควบคุมระบบการผลิตอัตโนมัติด้วยแกนไฟฟ้าทั้งระบบ ประเภทที่ 3 การแข่งขันการเขียนโปรแกรมพีแอลซีควบคุมชุดทดสอบแกนไฟฟ้า ประเภทที่ 4 การแข่งขันการออกแบบและผลิตชิ้นงานด้วยโปรแกรม CAD/CAM (3D) ประเภทที่ 5 การแข่งขันตรวจสอบชิ้นงานอุตสาหกรรมด้วยเครื่อง 3D Laser Scanner ประเภทที่ 6 การแข่งขันการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมเสมือนจริง (ด้วยซอฟต์แวร์ Emulate 3D) และประเภทที่ 7 การแข่งขันการสร้างคลังสินค้าอัตโนมัติและโลจิสติกส์ (ด้วยซอฟต์แวร์ Emmulate3D) ทั้งนี้การแข่งขันทั้ง 7 ประเภทดังกล่าว ถือเป็นการเสริมสร้างและพัฒนาทักษะขั้นสูง ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายที่มุ่งเน้นคุณภาพของการเรียนการสอนยกระดับผู้เรียนอาชีวศึกษาให้มีสมรรถนะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 โดยให้ผู้เรียนได้สามารถคิด วิเคราะห์ นำความรู้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และคณิตศาสตร์ ตามแนวทางการบูรณาการของ STEM Education ไปประยุกต์ใช้ในงานอาชีพ พัฒนาต่อยอดองค์ความรู้จากการสร้างนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ และเทคโนโลยีหุ่นยนต์ นำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย โดยหุ่นยนต์อุตสาหกรรมนับเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลกและการพัฒนาบุคลากรเพื่อให้เกิดความพร้อมสู่อุตสาหกรรม 4.0
การแข่งขันการควบคุมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ครั้งที่ 3 นี้ จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาวิชาชีพด้านอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ให้เกิดศักยภาพและสมรรถนะสูงสุดพร้อมเข้าสู่โลกอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง เป็นกิจกรรมหนึ่งที่เพิ่มพูน ทักษะ ความรู้และประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษาและผู้ที่สนใจได้ขยายขอบเขตความรู้ของตนในด้านการออกแบบและการสร้างหุ่นยนต์ รวมถึงการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมหุ่นยนต์
โดยได้รับการสนับสนุนจากนายบุญประเสริฐ พุฒิสรรค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเทค ไดแด็คติค จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประสานงานการจัดการแข่งขันฯ โดยร่วมกับบริษัท ชีเทคไดแด็คติค จำกัด และเครือข่ายภาคเอกชน ร่วมสนับสนุนเงินรางวัลและของรางวัลมูลค่ามากกว่า 10 ล้านบาท และถือเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผู้เรียน คณาจารย์ บุคลากรสังกัด สอศ. สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาและหน่วยงานเอกชน ที่จะร่วมกันพัฒนาประเทศให้ยั่งยืนต่อไป
นายบุญประเสริฐ เปิดเผยว่า ทางบริษัทฯ และภาคเอกชนที่ร่วมจัดงาน ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านอาชีวศึกษา เพื่อพัฒนากำลังคนของประเทศให้มีทักษะฝีมือ สมรรถนะสูง ทั้งการสนับสนุนการจัดงานครั้งนี้ และสนับสนุนชุดฝึกนวัตกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 4.0 หรือชุดฝึกควบคุมหุ่นยนต์แขนกลโรบอทแก่สถานศึกษาอาชีวศึกษาต่างๆ เป็นต้น เพื่อเทรน หรือฝึกครูผู้สอนให้มีความชำนาญ ก่อนถ่ายทอดแก่นักเรียน นักศึกษาให้มีความรู้ ความสามารถ มีสมรรถนะสูงตรงกับความต้องการของสถานประกอบการหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม (Robotics) ซึ่งเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาลจะช่วยสร้างกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคตของประเทศต่อไป.