เมื่อวันที่ 24 ต.ค. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) มูลนิธิ สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ พร้อมด้วยนางจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล นักวิชาการอิสระด้านการเกษตรและการพัฒนาชนบท ร่วมกันเสนอผลสำรวจภาคสนาม สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เรื่อง ความสุขมวลรวมของคนไทย กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศโดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,092 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 15-23 ต.ค. 64 ที่ผ่านมา

เมื่อวิเคราะห์ความสุขมวลรวมของคนไทย ด้านความมั่นคง การเมืองและระบบราชการ พบว่า ความสุขของคนไทยที่สูงสุดด้านความมั่นคง การเมืองและระบบราชการอันดับแรก ได้แก่ ความสุขเห็นคนไทยเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันแสดงความจงรักภักดี กตัญญูต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และแผ่นดินไทย ได้ค่าคะแนนเฉลี่ย 8.48 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน

ที่น่าเป็นห่วงคือ ดัชนีความสุขด้านความมั่นคง การเมืองและระบบราชการที่ฉุดความสุขคนไทยร่วงตกต่ำได้แก่ การทำงานของข้าราชการและระบบราชการทำความสุขคนไทยอยู่ค่าเฉลี่ย 4.98 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน นอกจากนี้ ดัชนีความสุขด้านความมั่นคง การเมืองและระบบราชการตัวอื่นๆ ที่ทำให้ความสุขคนไทยตกต่ำเช่นกัน ได้แก่ ความสุขของคนไทย เมื่อนึกถึง วิกฤติโควิด-19 และ วิกฤติเศรษฐกิจ ได้เพียง 3.63 คะแนน ความสุขของคนไทย เมื่อนึกถึง ความขัดแย้ง ความแตกแยกของคนในชาติ ได้เพียง 3.56 คะแนน และ ที่ตกต่ำสุดได้แก่ ภาพลักษณ์นักการเมืองและบรรยากาศการเมือง ทำคนไทยมีความสุขได้คะแนนเฉลี่ยเพียง 3.51 คะแนน

อย่างไรก็ตาม ความสุขมวลรวมของคนไทย ด้านสังคมที่สูงสุดได้แก่ ครอบครัวของตนเอง มีคะแนนเฉลี่ยความสุขอยู่ที่ 9.12 คะแนน รองลงมา ได้แก่ ศาสนา วัฒนธรรมประเพณีที่ถือปฏิบัติมา ได้ 9.09 คะแนน สุขภาพกาย ได้ 8.55 คะแนน สุขภาพใจ ได้ 8.25 คะแนน ความสัมพันธ์ของคนในชุมชน ได้ 8.19 คะแนน และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินได้ 6.76 คะแนน ตามลำดับ

ที่น่าสนใจคือ ความสุขของคนไทย ด้านเศรษฐกิจ ที่สูงสุดได้แก่ การนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้จริงจัง ได้ 8.57 คะแนน รองลงมาคือ อาชีพการงานของตนเอง ได้ 7.83 คะแนน ทรัพย์สิน ที่ดิน ที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย ได้ 7.39 คะแนน ในขณะที่ การเปิดประเทศ ฟื้นฟูเศรษฐกิจและแก้ปัญหาปากท้องได้ 6.43 คะแนน แต่เมื่อนึกถึง หนี้สิน ทั้งในและนอกระบบ ทำคนไทยมีความสุขต่ำ เหลือเพียง 4.42 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม เมื่อคนไทยนึกถึงทุกอย่างรวม ๆ กันในทุกมิติของชีวิต พบว่า ความสุขมวลรวมของคนไทยอยู่ที่ 6.71 คะแนนตีความได้ว่ามีความสุขค่อนข้างมาก

นางจุฬารัตน์ กล่าวว่า ในมุมมองของตนซึ่งเกิดในรัชกาลที่ 9 พบเห็นว่า “ความสุข” ของคนไทยผูกพันอยู่กับพระมหากษัตริย์ทุกรัชกาล จึงเป็นที่ประจักษ์ในผลสำรวจว่า คนไทยมีความสุขเมื่อเห็นความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันแสดงความจงรักภักดีและกตัญญูต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และแผ่นดินไทย พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงงานเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนทุกคนบนแผ่นดินนี้ และทรงแก้วิกฤติของชาติและของประชาชนในทุกวิกฤติ นอกจากนี้ผลสำรวจครั้งนี้ยังพบด้วยว่า การใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงที่แท้จริงจะทำให้คนไทยมีความสุขในการดำรงชีวิตที่ต้องมีสติ ปัญญา และความเพียร

นางจุฬารัตน์ กล่าวต่อว่า พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ได้ทรงมีพระราชดำรัสเรื่อง “อารยเกษตร” เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 64 ความว่า “โคกหนองนา นอกจากเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ทางด้านเกษตรกรรมแล้วยังเป็นศิลปะ เป็นแบบฝึกหัดที่ดี ในการที่จะรวมเกษตรที่หลากหลายให้มาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ในเวลาเดียวกันรักษาความหลากหลาย แต่ความหลากหลายนั้น ก็เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ประเทศของเรานี้ไม่หนีเรื่องการเกษตรคือปากท้องและเป็นชีวิตของเราตามพระบรมราโชบายของรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานมา ได้รับพระมหากรุณาธิคุณมามากมายในเรื่องของเกษตร …ในเรื่องของการพัฒนา อันนี้ก็เป็นการรวม หรือแสดงตัวอย่าง และเป็นตัวอย่างที่ใช้งานได้จริง ๆ นำไปใช้ได้ ไม่ใช่เป็นโมเดลที่แสดงไว้ในตู้ อยู่คงที่ แต่เป็นโมเดลที่ใช้งานได้จริงๆ นำไปใช้ได้อย่างอ่อนตัว อย่างใช้งานได้จริงๆ แล้วก็หลากหลายได้ โคกหนองนา นำความหลากหลาย และความอ่อนตัวมารวม เพื่อใช้งานในเรื่องปากท้องและการเกษตรซึ่งเป็นเศรษฐกิจของเรา”

เมื่อคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนชนบทซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของประเทศสามารถช่วยเหลือตนเองได้ ด้วยมีปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต (มีกิน มีใช้ มีที่อยู่อาศัย และร่มเย็น) มีความมั่นคงแล้วมารวมพลังกับคนอื่น ๆ ในทุกสาขาอาชีพเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเพื่อปกป้องผลประโยชน์ชาติและของประชาชนทุกคน ก้าวต่อไปคือการนำประเทศไทยสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน.