วันที่ 12 พ.ย. นายอัศนี บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ นำผู้บริหารของเทศบาลนครเชียงใหม่ ร่วมเปิดซุ้มประดับไฟ เทศกาลยี่เป็งเชียงใหม่ ประจำปีพุทธศักราช 2567 อย่างเป็นทางการ ซึ่งเทศบาลนครเชียใหม่ จัดทำซุ้มประดับไฟมงคล พิงคราษฎร์ภักดี เฉลิมพระจักรี ฑีฆายุโก ขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 โดยได้ร่วมกับอาจารย์จากภาควิชาศิลปะไทยและวัฒนธรรมสร้างสรรค์ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดสร้างซุ้มไฟประดับในรูปแบบซุ้มโขง 14 ซุ้ม บนถนนท่าแพไปจนถึงลานข่วงประตูท่าแพ รวมระยะทางกว่า 200 เมตร งบประมาณกว่า 10 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลยี่เป็ง หรือลอยกระทงของจังหวัดเชียงใหม่ โดยจะเปิดตั้งแต่วันที่ 11-17 พ.ย. เปิดถึงเที่ยงคืน หลังจากนั้น จันทร์-พฤหัส เปิดไฟ 18.00-20.00 น. ส่วนวันศุกร์ ถึง อาทิตย์ เปิดไฟ 18.00-22.00 น. พร้อมปิดถนนเส้นทางท่าแพ เนื่องจากเป็นช่วงการจัดงาน และจะมีขบวนแห่กระทงเล็ก และขบวนแห่กระทงชิงถ้วยพระราชทาน
![](https://www.dailynews.co.th/wp-content/uploads/2024/11/S__9871458_0-1280x774.jpg)
สำหรับซุ้มโขงดังกล่าวนี้ เป็นสถาปัตยกรรมล้านนาคลาสสิกร่วมสมัยสไตล์โคโลเนียล ที่นำเสนออัตลักษณ์ของล้านนา ซุ้มที่ 1 และซุ้มที่ 14 เป็นลวดลายเครือเถาพรรณพฤกษา และดอกพุตตาล อันเป็นเอกลักษณ์ของการตกแต่งประดับหน้าบันวิหารล้านนา ตรงกลางซุ้มประดับรูปเทวดาอันเชิญดวงตราสัญลักษณ์เฉลิมพระเกียรติ โดยมีตราเทศบาลนครเชียงใหม่อยู่เบื้องล่าง วางบนฐานประดับลายบัวคว่ำบัวหงาย ส่วนในซุ้มที่ 2 ถึง 13 ด้านหนึ่งประดับประดาด้วยลวดลายปีเปิ้ง ตามคติความเชื่อระบบปฏิทินของจีนโบราณ ที่ถูกกำหนดใช้เป็นรูปสัตว์ 12 นักษัตรแทนในรอบ 12 ปี โดยความเชื่อเรื่องนักษัตรมงคลประจำปีเกิดเหล่านี้ มีทั้งไทยและล้านนาตั้งแต่อดีต แต่ล้านนาเปลี่ยนปีกุน จากเดิมนักษัตรหมู มาเป็นช้างแทน การนับปีเปิ้ง จะเริ่มจากปีนักษัตรหนู แล้วสิ้นสุดที่ปีนักษัตรช้างนั่นเอง อีกด้านหนึ่งประดับด้วยลายจักราศีสากล เพื่อให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้ร่วมกันเฉลิมฉลองในประเพณีเดือนยี่เป็ง
![](https://www.dailynews.co.th/wp-content/uploads/2024/11/IMG_20241111_190821_0-1280x960.jpg)
ขณะที่โครงสร้างเสาบัวประดับหัวเสา ประดับด้วยลายบ่างหรือลายค้ำใต้ฐานเขียง ตกแต่งลายลูกแก้วและบัวคว่ำบัวหงาย ลายพรรณพฤกษา มวลดอกไม้พื้นเมือง เช่น ดอกสับปะรด ดอกก๋ากอก และดอกพุดตาน ผูกลวดลายที่ถูกจำลองจากลายประดับหน้าบันวิหารล้านนา อาทิ วัดแสนฝาง วัดบุพพาราม และวัดล้านนา ที่ปรากฏตลอดเส้นทางบนถนนท่าแพอย่างงดงาม ลวดลายที่สร้างขึ้นทั้งหมดทำด้วยมืออย่างประณีตและพิถีพิถัน พร้อมประดับดวงไฟหลากหลายขนาด ตลอดจนเปิดเสียงเพลงบรรเลงสไตล์ล้านนาตลอดระยะเวลาของการเปิดไฟประดับ เพื่อความสุขของพี่น้องประชาชนในทุกมิติ ให้สมกับการเป็นนครที่สง่างามทางวัฒนธรรม จึงเป็นที่มาของโครงการตกแต่งเมืองเฉลิมฉลองในเทศกาลยี่เป็ง ในรูปแบบซุ้มประดับไฟมงคล “พิงคราษฎรภักดี เฉลิมพระจักรี ทีฆายุโก” อันมีความหมายว่า “พสกนิกรชาวเชียงใหม่ น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และถวายความจงรักภักดี ขอพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน” โดยซุ้มประดับไฟจะเปิดให้ประชาชนได้ชื่นชมความสวยงามไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์