เมื่อวันที่ 18 พ.ย.ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม Kickoff Meeting : การขับเคลื่อนการนิเทศการศึกษา ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 สู่การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” สำหรับศึกษานิเทศก์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบ Zoom Cloud Meeting โดยมี นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมพบปะให้กำลังใจผู้เข้าประชุม ประกอบด้วย ศึกษานิเทศก์ในสังกัด สพฐ. จำนวน 3,009 คน จาก 245 เขตพื้นที่ทั่วประเทศ
.
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า ด้วยนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นนโยบายที่ต้องการให้ลงถึงผู้ปฏิบัติโดยเฉพาะห้องเรียน ดังนั้นกลุ่มบุคคลที่จะช่วยให้การขับเคลื่อนนโยบายนี้ลงไปถึงห้องเรียนได้ก็คือศึกษานิเทศก์ ควบคู่ไปกับการใช้สื่อและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ขอให้ศึกษานิเทศก์ทำหน้าที่เป็นมือขวาในด้านวิชาการให้กับผอ.เขต และเขตพื้นที่ เพื่อให้การนำนโยบายลงสู่ห้องเรียนเกิดขึ้นได้จริง ในส่วนของเขตพื้นที่ที่มีตำแหน่งศึกษานิเทศก์ว่างอยู่ สพฐ. ก็จะพยายามจัดสอบเพื่อเติมลงไปให้เต็มทุกพื้นที่ เพื่อให้มีศึกษานิเทศก์เข้าไปช่วยงานวิชาการให้กับเขตพื้นที่ด้วย ซึ่งจากการพูดคุยกับ รมว.ศธ. และ รมช.ศธ. ท่านได้แสดงความชื่นชม และอยากให้ศึกษานิเทศก์ได้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายลงสู่ห้องเรียน ขอให้เราร่วมกันปฏิวัติการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาประเทศไทย รวมถึงการปรับปรุง พ.ร.บ.การศึกษา จะมีการกำหนดบทบาทของแต่ละฝ่ายให้ชัดเจน ทั้งเขตพื้นที่ ศึกษานิเทศก์ นักวิชาการ โรงเรียน หรือบทบาทของครูก็จะต้องเด่นชัด ห้องเรียนจะต้องมีสื่อและอุปกรณ์ที่ทันสมัย คุณครูจะต้องสอนให้เด็กฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ นี่คือจุดเน้นที่จะทำให้การปฏิวัติคุณภาพการศึกษาเกิดขึ้นได้
.
“อีกเรื่องที่สำคัญคือการยกระดับคุณภาพการสอบ PISA ซึ่งผมได้มอบให้ท่านรองฯ เกศทิพย์ และทีมงาน PISA ดำเนินการขับเคลื่อนและติดตามอย่างเข้มข้น ในโรงเรียน 9,214 แห่ง ที่คาดว่าจะโดนสุ่มสอบในปี 2025 นี้ ผมเชื่อมั่นว่าในการสอบครั้งนี้เราจะยกระดับผลการสอบ PISA ให้สูงขึ้น จากการร่วมมือร่วมใจของทุกคน โดยเฉพาะศึกษานิเทศก์ที่เป็นกำลังสำคัญของเรา ซึ่งต่อไปเราจะนำแนวทางการสอบ PISA มาใช้ในการคัดเลือกบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งบริหารด้วย สุดท้ายนี้ ผมขอให้ปีงบประมาณ 2568 ที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ เป็นปีแห่งความท้าทายเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และเป็นปีที่สำคัญยิ่งของศึกษานิเทศก์ทั่วประเทศที่จะได้ร่วมกันขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพการศึกษา ตามแนวทาง “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” เพื่อสร้างให้เด็กไทย “เรียนดี มีความสุข” ต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
.
ทางด้านนางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า ขอชื่นชมศึกษานิเทศก์ที่ได้ร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินการตามนโยบายด้านการศึกษาของ สพฐ. สู่การปฏิบัติของเขตพื้นที่การศึกษา ลงไปสู่ทุก ๆ ห้องเรียน เช่น รายงานผลการขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA ในที่ประชุมประสานภารกิจฯ โดยมี รมว.ศธ. เป็นประธานการประชุม สิ่งที่ได้รับคือ การชื่นชมพลังการขับเคลื่อนของศึกษานิเทศก์ของเขตพื้นที่การศึกษา ทั้ง 3,009 คน ของ สพฐ. ที่ทำให้ทุกคนเห็นความสำคัญ ภายใต้ความสำเร็จดังกล่าวที่ได้รับการชื่นชมนี้ ร้อยละ 85 คือการเตรียมข้อมูลจากศึกษานิเทศก์ของเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อให้การดำเนินการบรรลุเป้าหมายเป็นข้อมูลสำหรับ ผอ.สพท. ที่รายงาน สพฐ. ในทุก ๆ 2 สัปดาห์ เพื่อให้นักเรียนมีคุณภาพ ในกระบวนการคิด วิเคราะห์ ถ่ายทอดอย่างมีเหตุมีผลนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ เกิดเป็น Literacy และเชื่อมั่นบทบาทของศึกษานิเทศก์ทุก ๆ คน ที่ได้ร่วมกันทำงานอย่างมีความสุข สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องร่วมกันขับเคลื่อนตามแผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ให้เป็นไปตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ต้องเกิดขึ้นจริงและเป็นผลกระทบที่ดีไปยังทั่วประเทศ
.
“ทั้งนี้ขอฝากการสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง เพราะเครือข่ายจะทำให้งานของเราทุก ๆ คนบรรลุเป้าหมายและสำเร็จด้วยระยะเวลาที่รวดเร็ว รวมถึงการบูรณาการงานที่ไม่สร้างภาระ แต่ทำให้เกิดประโยชน์ที่การขับเคลื่อนในตัวงาน ภาระงานที่เกิดขึ้นจากการนิเทศติดตาม สามารถเปลี่ยนเป็นผลงานเชิงประจักษ์ การวัดผลอย่างเป็นรูปธรรม บูรณาการลงสู่นักเรียนได้อย่างมีคุณภาพ เช่นเดียวกับฐานข้อมูลศึกษานิเทศก์ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ศูนย์บริหารงานการพัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ สพฐ. พัฒนาเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลงานทางวิชาการ ผลงานเชิงประจักษ์ของศึกษานิเทศก์แต่ละบุคคล เพื่อนำเป็นต้นแบบ เป็นแนวทางการบูรณาการลงสู่ห้องเรียนทุก ๆ ห้องเรียนได้ และขอให้ศึกษานิเทศก์ กระจายองค์ความรู้ที่สำคัญให้ครู โดยการพัฒนาที่เห็นผลเชิงประจักษ์ ดูได้จากการวัดผลและประเมินผลหลากหลายวิธี ไม่จำเป็นต้องสอบระหว่างภาคเรียน แต่สามารถดูค่าการพัฒนาได้ จากการหลอมรวมตัวชี้วัดหลักตามหลักสูตร 771 ตัวชี้วัด ผ่านกระบวนการต่าง ๆ ที่กล่าวมาจนเกิดเป็น Literacy ให้กับผู้เรียนได้ สิ่งที่จะทำให้เกิดเหล่านี้ คือ การจัดบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ Active learning โดยไม่มีข้อจำกัดตามความสนใจ และความถนัดของเด็ก ส่งเสริมให้เด็กได้เกิดความคิด วิเคราะห์ ในยุค BANI WORD ได้ และสามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคตได้ สุดท้ายนี้ ขอเป็นกำลังใจ และชื่นชมศึกษานิเทศก์ทุก ๆ คน และจับมือเดินไปพร้อม ๆ กัน ทุกงานที่ได้รับคำชื่นชม ต้องขอบคุณกำลังสำคัญ กำลังสมอง กำลังขับเคลื่อนของศึกษานิเทศก์ของทุกเขตพื้นที่ ที่ร่วมกันพัฒนาคุณภาพการศึกษาจนเห็นผลเชิงประจักษ์และเกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้เรียนต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
.
ทั้งนี้ ยังมีวิทยากรที่มาให้ความรู้ด้านการนิเทศ ประกอบด้วย นางอาทิตยา ปัญญา ผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานการพัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ นางสาวจรูญศรี แจบไธสง รอง ผอ.สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา นางสาวปาริชาติ เภสัชชา หัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์ สพฐ. นายอานนท์ วงศ์วิศิษฏ์รังสี ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สพม.อุบลราชธานี อำนาจเจริญ นายเฉลิมพล สายหอม ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สพป.อุบลราชธานี เขต 3 และนายสนธยา หลักทอง ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สพป.สกลนคร เขต 2