สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 19 พ.ย. ว่า นายแมทธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ปฏิเสธให้ความเห็นเกี่ยวกับรายงานของ “เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส” และ “เดอะ วอชิงตัน โพสต์” ซึ่งเป็นสื่อใหญ่สองแห่งแรกของสหรัฐ ที่รายงานโดยอ้างข้อมูลจากแหล่งข่าว ว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ อนุมัติให้ยูเครนสามารถใช้อาวุธโจมตีที่มีพิสัยทำการระยะไกล ซึ่งได้รับจากสหรัฐ เพื่อโจมตีเป้าหมายที่อยู่ลึกเข้าไปในรัสเซีย

AFP


ทั้งนี้ มิลเลอร์กล่าวว่า สหรัฐต้องปรับเปลี่ยนศักยภาพและกลยุทธ์ในการให้ความช่วยเหลือยูเครน “เมื่อถึงเวลาเหมาะสมที่ต้องดำเนินการ”


ขณะเดียวกัน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐกล่าวว่า รัสเซียเป็นฝ่ายกระตุ้นและยั่วยุซ้ำแล้วซ้ำเล่า ให้สงครามในยูเครนมีความรุนแรงและตึงเครียดมากขึ้น ด้วยการรับความสนับสนุนทางทหารจากเกาหลีเหนือ ที่อาจมีจำนวนมากถึง 11,000 นาย และมีการปะทะกันเกิดขึ้นแล้ว ระหว่างทหารยูเครน กับทหารเกาหลีเหนือ ที่ประจำการอยู่ในภูมิภาคเคิร์สก์ ทางตะวันตกของรัสเซีย


ด้านนายดมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน กล่าวว่า “รัฐบาลวอชิงตันที่ใกล้หมดวาระต้องการสุมไฟความขัดแย้ง และยกระดับความรุนแรง” พร้อมทั้งยกคำกล่าวของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย เมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ว่าหากกองทัพยูเครนใช้อาวุธโจมตีที่มีพิสัยทำการระยะไกล ทั้งของสหรัฐและพันธมิตรได้มากขึ้น “จะเป็นการเปลี่ยนพื้นฐานของสงครามครั้งนี้อย่างมีนัยสำคัญ”


สำหรับรัสเซียจะหมายความว่า สมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ซึ่งรวมถึงสหรัฐและหลายประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) “ทำสงครามโดยตรงกับรัสเซีย” และรัฐบาลมอสโกจะตอบโต้ตามความเหมาะสม โดยขึ้นอยู่กับรูปแบบของภัยคุกคาม


อนึ่ง ยูเครนเรียกร้องมานาน ขอให้สหรัฐอนุญาตอย่างเป็นทางการ ในการใช้ระบบขีปนาวุธทางยุทธวิธีระยะทำการไกล “อะแทคซิมส์” (Army Tactical Missile System – ATACMS) รุ่นใหม่ ที่มีพิสัยทำการระยะไกลถึง 300 กิโลเมตร เพื่อโจมตีเป้าหมายในรัสเซีย ปัจจุบัน กองทัพยูเครนใช้งานระบบอะแทคซิมส์ระยะใกล้ของสหรัฐ ที่มีพิสัยทำการประมาณ 165 กิโลเมตร.

เครดิตภาพ : AFP