เมื่อปี 2563 ทีมนักวิจัยพบมัมมี่ของลูกเสือเขี้ยวดาบอายุ 35,000 ปี ในพื้นที่ของสาธารณรัฐซาคา เขตการปกครองทางตะวันออกเฉียงเหนือของรัสเซียในปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อหนึ่งว่ายาคูเตีย
ผลการศึกษามัมมี่ลูกเสือตัวนี้ เพิ่งได้รับการเผยแพร่ในวารสาร Scientific Reports เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ในรายงานระบุว่า ลูกเสือตัวนี้อายุเพียง 3 สัปดาห์ตอนที่มันตาย แต่ยังไม่ทราบสาเหตุการตายที่แน่ชัด
มัมมี่ลูกเสืออยู่ในสภาพที่สมบูรณ์มาก ยังคงมีหนวดและกรงเล็บอยู่ครบ ตอนที่ขุดร่างของมันขึ้นมาจากชั้นดินใต้ทุ่งน้ำแข็งแห่งไซบีเรีย ทีมวิจัยรายงานว่า ขนของลูกเสือมีลักษณะ “สั้น หนา นุ่ม สีน้ำตาลเข้ม” ปกคลุมอยู่ทั้งร่าง โดยมีความยาวขนประมาณ 20-30 มิลลิเมตร
สภาพมัมมี่ที่สมบูรณ์เช่นนี้ เป็นโอกาสอันดีที่หาได้ยากสำหรับนักวิจัยในการศึกษาสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วชนิดนี้
“เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของบรรพชีวินวิทยา ที่มีการศึกษารูปลักษณ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่สูญพันธุ์ไปแล้ว และไม่มีสัตว์สายพันธุ์ในปัจจุบันที่เทียบเท่าได้” ผู้เขียนระบุไว้ในรายงาน
เสือเขี้ยวดาบจากสกุลโฮโมธีเรียม (Homotherium) มีจุดเด่นตรงเขี้ยวขนาดใหญ่ที่ยื่นออกมาจากปาก ซึ่งมันใช้เป็นอาวุธในการฆ่าและจับเหยื่อ คาดว่าสัตว์เหล่านี้สูญพันธุ์ไปเมื่อประมาณ 12,000 ปีก่อน ในช่วงปลายยุคไพลสโตซีน หรือยุคน้ำแข็งตอนปลาย
ผลจากการตรวจหาอายุด้วยวิธีคำนวณคาร์บอนกัมมันตรังสีจากขนลูกเสือบ่งชี้ว่า มันโดนฝังไว้ใต้ดินมาเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 35,000 ปี นับเป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์สามารถอธิบายลักษณะทางกายภาพของสัตว์ในสกุลโฮโมธีเรียมได้ เช่น เนื้อสัมผัสของขน, มวลกล้ามเนื้อ รวมถึงลักษณะของขากรรไกร ปากและจมูก
ก่อนหน้านี้เคยค้นพบซากฟอสซิลเสือเขี้ยวดาบในทวีปอเมริกา แอฟริกาและยูเรเซีย เมื่อนักวิทยาศาสตร์พิจารณามัมมี่ลูกเสือตัวนี้ ก็พบความแตกต่างที่น่าสนใจบางอย่างระหว่างลูกเสือเขี้ยวดาบกับลูกสิงโตในปัจจุบัน โดยเฉพาะลักษณะอุ้งเท้าของพวกมัน ลูกเสือเขี้ยวดาบมีอุ้งเท้าที่กว้างกว่า แต่ไม่มีติ่งเนื้อเหนืออุ้งเท้า (Carpal pads) ซึ่งเป็นข้อต่อที่ช่วยดูดซับแรงกระแทกได้ในสัตว์ตระกูลแมวรุ่นปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมุติฐานว่าการปรับตัวเหล่านี้ ช่วยให้เสือเขี้ยวดาบเดินบนหิมะหนา ๆ ได้ง่ายขึ้น
รายงานฉบับนี้ยังระบุด้วยว่า ลูกเสือเขี้ยวดาบมีลำคอขนาดใหญ่ และลักษณะของขากรรไกรและจมูกที่แปลกออกไป ขณะที่ใบหูมีขนาดเล็ก แต่มีปากที่กว้างและขาหน้าเรียวยาว
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการค้นพบซากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในสภาพสมบูรณ์ในไซบีเรีย เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผู้ประกอบกิจการเหมืองทองในไซบีเรียประกาศว่า พวกเขาขุดเจอซากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนยาว ซึ่งยังมีเขาติดอยู่ด้วย
สองเดือนก่อนหน้านั้น ก็มีทีมนักวิทยาศาสตร์ประกาศว่า พวกเขาเพิ่งเสร็จสิ้นจากกระบวนการชันสูตรซากหมาป่าจากยุคน้ำแข็งที่กลายเป็นมัมมี่อย่างสมบูรณ์ อยู่ภายใต้ชั้นดินในทุ่งน้ำแข็งแห่งไซบีเรีย
สภาพอากาศที่หนาวเย็นและแห้งแล้งของไซบีเรีย ทำให้ภูมิภาคแห่งนี้เป็นสถานที่ที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการค้นหาซากดึกดำบรรพ์ที่ยังสมบูรณ์ สภาพอากาศที่แห้งแล้งช่วยขับน้ำออกจากเนื้อเยื่อของซากสัตว์ ส่วนอุณหภูมิที่เย็นยะเยือก ก็ช่วยรักษาสภาพซากของสัตว์เอาไว้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
ที่มา : npr.org
เครดิตภาพ : Lopatin et al./Scientific Reports