“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) สำนักงานประเทศไทย โดยนายทัตสึชิ นิชิโอะกะ รองหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูต, อัครราชทูต และนายคาวาเบะ เรียวอิจิ ผู้แทนอาวุโส JICA นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ช่วงเตาปูน-บางใหญ่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร ODA ญี่ปุ่น-ไทย เนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปีของความร่วมมือเพื่อการพัฒนา (ODA) ในประเทศไทย

นายทัตสึชิ กล่าวว่า โครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่อยู่ภายใต้ ODA ล้วนประสบความสำเร็จ อาทิ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.), รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน, สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 14 แห่ง รวมถึงรถไฟฟ้าสายสีม่วง ที่มีความร่วมมือทางการเงินระหว่างรัฐบาลไทย และรัฐบาลญี่ปุ่นในรูปแบบเงินกู้เพื่อการพัฒนา (ดอกเบี้ยต่ำ และระยะเวลาจ่ายคืนยาว) ทั้งนี้การวางรากฐานของโครงสร้างพื้นฐาน เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ ก้าวพ้นจากประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งชาวญี่ปุ่นมีความภูมิใจที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการวางรากฐานนี้ โดยปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้มีประสบการณ์ และได้เป็นผู้ให้บ้างแล้ว โดยร่วมกับญี่ปุ่น เพื่อสนับสนุนประเทศเพื่อนบ้าน

นายทัตสึชิ กล่าวต่อว่า ODA ของญี่ปุ่น จะยึดหลักไม่มีการบังคับ หรือยัดเยียดผลประโยชน์ของญี่ปุ่นให้ไทยเด็ดขาดเป็นเรื่องสำคัญ โดยที่ผ่านมาไม่ว่าจะดำเนินโครงการใด ทางญี่ปุ่นจะหารือร่วมกับไทยเสมอ เพื่อประโยชน์ของคนไทยทุกคน สิ่งนี้จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ความร่วมมือในการพัฒนาโครงการต่างๆ ราบรื่น และประสบความสำเร็จ ซึ่งหลังจากนี้ญี่ปุ่น และไทย ยังมีอีกหลายเรื่องที่จะคิด และดำเนินการร่วมกัน โดยเรามีความไว้เนื้อเชื่อใจกันมา 70 ปี ซึ่งหากยังคงมีความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างบุคคลกับบุคคล และระหว่างประเทศกับประเทศ ก็จะทำให้การทำงานต่างๆ เดินไปด้วยกันได้

นายทัตสึชิ นิชิโอะกะ รองหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูต, อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย

ด้านผู้แทนของกลุ่มกิจการร่วมค้า JTT ประกอบด้วย บริษัท Marubeni East Japan Railway Company และบริษัท Toshiba ซึ่งได้รับมอบหมายจากบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ให้เป็นผู้รับผิดชอบการซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีม่วง ให้ข้อมูลว่า JTT รับผิดชอบงานซ่อมบำรุง 4 ด้าน ได้แก่ 1.ขบวนรถไฟ 2. อุปกรณ์ในศูนย์ซ่อม 3.ระบบไฟฟ้ากำลัง และ 4.รางรถไฟ และรางจ่ายไฟฟ้า ซึ่งเน้นย้ำความปลอดภัยเป็นอันดับแรก การซ่อมบำรุงทำด้วยคุณภาพที่สูงมาก มีการสร้างความตระหนักรู้ให้กับพนักงานทุกคน มีการอบรมเป็นประจำ

รวมทั้งสุ่มตรวจความปลอดภัย และแต่ละวันจะตรวจสอบสภาพรถก่อนออกให้บริการ มีการประชุมร่วมกันทุกเช้า คาดการณ์ความเสี่ยง และเตรียมวิธีป้องกันอันตรายไว้ล่วงหน้า นอกจากนี้ยังปฏิบัติตามคู่มือ และการตรวจสอบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังนำวิธี “มือชี้ปากย้ำ” ของอุตสาหกรรมรางในญี่ปุ่นที่นิยมใช้กัน นำมามาปฏิบัติด้วย เพื่อป้องกันความผิดพลาดขณะปฏิบัติงาน และทำให้การบริการผู้โดยสารได้รับความปลอดภัย มีความเชื่อถือ และสะดวกสบาย

อย่างไรก็ตามความพร้อม และความมีวินัยในด้านตรวจสอบ และซ่อมบำรุงอย่างเคร่งครัด ส่งผลให้รถไฟฟ้าสายสีม่วง มีสถิติเหตุการณ์ที่เกิดเหตุขัดข้องที่ส่งผลกระทบต่อการเดินรถน้อยที่สุดในการเดินรถไฟฟ้าของทุกสาย ติดต่อกัน 3 ปีซ้อน ตั้งแต่ปี 2564-2566 โดยในปี 2566 ไม่มีเหตุการณ์ใดที่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการเดินรถเลย ส่วนในปี 2567 ตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือน ต.ค. 67 ก็ยังไม่เหตุการณ์ หรือเหตุขัดข้องใดที่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการเดินรถเช่นกัน

ขณะที่ผู้แทน JICA ให้ข้อมูลว่า JICA ได้ร่วมมือกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง ซึ่งขณะนี้ถือว่าเติบโตมากๆ หลังจากนี้จะร่วมมือกันพัฒนาประเทศเพื่อนบ้านต่อไป ทั้งนี้ สำหรับโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานของกระทรวงคมนาคม ขณะนี้ JICA อยู่ระหว่างเร่งศึกษาโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) สายเหนือ ช่วงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ซึ่งจะนำเสนอผลการศึกษาให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อกังวลเรื่องปริมาณผู้โดยสารที่ยังไม่มั่นใจว่าจะมีผู้ใช้บริการจำนวนมากหรือไม่.