แนวคิดในงานยุติธรรมเองก็เช่นกัน “เรือนจำการศึกษา” เป็นหนึ่งตัวอย่างท้าทายกับการให้โอกาสที่มากขึ้น เมื่อการรับโทษควรต้องพัฒนา เพื่อเป็นคนที่ดีกว่า ก่อนก้าวออกมาสู่สังคมด้วย
“ทีมข่าวอาชญากรรม” มีโอกาสสอบถามที่มาที่ไปของความจำเป็นต้องให้การศึกษาที่ดีขึ้น และรูปแบบที่เหมาะสมเมื่อบุคคลนั้นอยู่ระหว่างคุมขัง
นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ระบุ แม้การจัดการศึกษาในเรือนจำจะมีอยู่เดิมแต่ด้วยข้อจำกัดบางอย่าง จึงทำได้เพียงส่วนน้อย พร้อมฉายภาพในจำนวนมีผู้ต้องขังกว่า 3 แสนคน มีประมาณ 2 แสนคน เรียนไม่จบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ส่งผลให้ขยับตัวลำบากเพราะไม่มีวิชาไปต่อยอด เพื่อก้าวข้ามข้อจำกัด การสร้างระบบขึ้นใหม่รองรับบริบทการเข้า-ออกของผู้ต้องขังที่มีตลอด 365 วัน จึงจำเป็น โดยเริ่มจากพิมพ์เขียวโครงการเรือนจำเพื่อการศึกษาที่ตั้งใจให้เกิดขึ้นภายในปีนี้และการเรียนจบหลักสูตร พ้นโทษแล้ว ต้องสามารถใช้วุฒิการศึกษาที่เรียนจบในเรือนจำ/ทัณฑสถานไปเรียนต่อ หรือสมัครงานได้
“การที่บุคคลต้องเข้ามาติดอยู่ในเรือนจำ ไม่อยากให้เป็นการเสียเวลาหรือโอกาส แต่ควรพลิกมุมมองว่านี่คือการช่วงชิงเวลาและโอกาส”
จากเรือนจำ/ทัณฑสถานทั่วประเทศ 143 แห่ง กรมราชทัณฑ์ตั้งใจนำร่องเรือนจำการศึกษาใน 11 แห่ง เพื่อทดลองก่อนขยายผลไปเรือนจำอื่น พร้อมเผยความท้าทายคือ การที่ผู้ต้องขังแต่ละรายมีอัตลักษณ์และความต้องการในชีวิตแตกต่างกัน บางคนมีความชอบเรียนรู้ ขณะที่บางคนไม่ชอบการถูกบังคับ
“ต้องทำความเข้าใจว่าการที่ผู้ต้องขังกระทำความผิดมา ขณะอยู่ในสังคมภายนอกอาจเป็นคนไม่มีระเบียบ ไม่มีความรับผิดชอบ ไม่อยากทำงานก็ได้ แต่เมื่อเข้ามาอยู่ในเรือนจำจะทำเหมือนข้างนอกไม่ได้ หน้าที่คือต้องเรียนรู้หนังสือและฝึกวิชาชีพ เพื่อเตรียมพร้อมก่อนพ้นโทษ ต้องปฏิบัติตามกติกา เลือกจะไม่ทำไม่ได้”
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ระบุ โครงการเรือนจำเพื่อการศึกษาจะมีการออกระเบียบการจัดการ หลักเกณฑ์ และแนวทางเพื่อลดข้อท้าทายต่างๆ ด้วยการกำหนดชัดหากไม่ปฏิบัติจะไม่ได้รับการ “เลื่อนชั้น” หรือ ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ ยกตัวอย่าง ปัจจุบันนี้มีโครงการอ่านหนังสือเพื่อเลื่อนชั้น หรือลดวันต้องโทษ หากเป็นการบังคับแต่เป็นประโยชน์ก็ไม่ใช่การบังคับเพื่อละเมิดสิทธิ แต่บังคับเพื่อคุ้มครองสิทธิที่ทุกคนควรได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ทั้งนี้ ตามขอบเขตที่วางไว้ ทุกกลุ่มต้องขังไม่ว่าจะผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี ผู้ต้องขังเด็ดขาด หรือผู้ต้องขังเด็ดขาดโทษเหลือน้อยล้วนมีสิทธิ อย่างผู้ต้องขังแรกรับ หรือ ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี ที่จบวุฒิการศึกษาระดับชั้น ป.6 เมื่อเข้ามาแล้วก็สามารถลงทะเบียนเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาตอนต้นได้
“หัวใจสำคัญของผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีคือ มีโอกาสต่อสู้คดี ได้พบทนายความ เพื่อยื่นคำร้องปล่อยชั่วคราว สิทธิเหล่านี้ยังมีอยู่ เพราะข้อเท็จจริงการปรึกษาแนวทางสู้คดีไม่ได้เกิดขึ้นตลอดวัน หรือ 24 ชม. ดังนั้นจะมีเวลาส่วนหนึ่งให้ใช้ชีวิต”
อีกความท้าทายคือการลงทุนกับระบบ เพราะลำพังบุคลากรไม่เพียงพอ รวมถึงกรณีผู้ต้องขังได้รับพักการลงโทษระหว่างเรียน จะเป็นไปได้หรือไม่ในการให้บุคคลนั้นเข้าสู่ระบบของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อต่อยอดจนกว่าจะพ้นโทษ
ส่วน เรือนจำความมั่นคงสูง หรือ ซูเปอร์แม็กซ์ (Supermax) ที่ต้องควบคุมผู้ต้องขังพฤติกรรมดื้อด้าน มีความเสี่ยงสูง กระบวนการปรับเปลี่ยนนิสัยจำเป็น หากประเมินว่าอยู่ในภาวะเรียนได้ต้องให้โอกาส ไม่ใช่แค่เพียงคุมขัง พร้อมยืนยันการให้การศึกษาเป็นหนึ่งจุด “วัดผล” เรื่องการกระทำผิดซ้ำได้
“เรื่องนี้ตนพูดคุยกับคณะทำงานเสมอว่า หากมัวแต่กังวลเปอร์เซ็นต์การกลับมากระทำผิดซ้ำที่มีปีละ 14% ทำไมเราไม่กลัว 86% ที่ไม่เคยกระทำผิดเลยแทน”
ยกตัวอย่าง คดียาเสพติด หากอยู่ในเรือนจำแล้วได้รับการศึกษาตามหลักสูตร เมื่อพ้นโทษแล้วพบว่าใช้ความรู้ที่มี วุฒิการศึกษาไปสมัครงานประกอบอาชีพสุจริต ไม่หวนเข้าจงจรเดิมก็ถือเป็นผลสัมฤทธิ์ของได้เช่นกัน
ด้าน น.ส.จันทร์ทิมา อุยยะเสถียร ผอ.กลุ่มงานส่งเสริมการศึกษา กรมราชทัณฑ์ เผยกรอบดำเนินการจะพิจารณาเป็นรายไป เพราะความแตกต่างของขนาดเรือนจำ ต้องดูว่าแต่ละแห่งมีผู้ต้องขังยังไม่จบการศึกษาขั้นพื้นฐานกี่ราย การเวิร์กช็อปของเรือนจำนำร่องจะเกิดขึ้นในเดือน ธ.ค. ระยะเวลา 6 เดือน เพื่อประเมินผลสร้างเป็น “โมเดล” ให้เรือนจำอื่น
ผอ.กลุ่มงานส่งเสริมการศึกษา ระบุ จะไม่ใช้วิธีการตัดเสื้อโหล เพราะบางแห่งเป็นเรือนจำความมั่นคงสูง บางแห่งเป็นเรือนจำความมั่นคงต่ำ บางแห่งเป็นเรือนจำเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย จึงต้องมีโมเดลการศึกษาที่แตกต่าง ให้เหมาะกับผู้เรียนที่หลากหลาย พร้อมย้ำแนวความคิดต้องไม่อายที่จะประกาศว่าเรียนจบจากราชทัณฑ์.
ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน