สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากเมืองแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 23 พ.ย. ว่า ตัวเลขสุดท้ายที่ยืนยันการเติบโต 0.1% ในไตรมาสที่สาม บ่งชี้ว่า เยอรมนีสามารถหลบเลี่ยงภาวะถดถอยได้อย่างหวุดหวิด หลังการเติบโตลดลง เมื่อไตรมาสที่สองของปีนี้
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวลดลงจากการเติบโตเบื้องต้น 0.2% เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส เนื่องจากเศรษฐกิจของเยอรมนีกำลังเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน ตั้งแต่การชะลอตัวของภาคการผลิต ไปจนถึงอุปสงค์ที่อ่อนแอของสินค้าส่งออก
รายงานโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนี ระบุว่า เศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบในไตรมาสที่ 3 จากการส่งออกที่ลดลง 1.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่สอง รวมถึงการลงทุนซึ่งลดลงในด้านต่าง ๆ เช่น เครื่องจักร, อุปกรณ์ และการก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม การบริโภคที่เพิ่มขึ้น 0.3% ถือเป็นแรงสนับสนุนที่สำคัญ
ขณะเดียวกัน ข้อมูลการเติบโตเผยให้เห็นว่า เยอรมนีล้าหลังกว่าเขตเศรษฐกิจหลักแห่งอื่น และสหภาพยุโรป (อียู) มากเพียงใด โดยภาพรวมทางเศรษฐกิจของเยอรมนีในไตรมาสที่ 3 สวนทางกับสเปน, อิตาลี และฝรั่งเศส ที่มีผลงานดีขึ้น ตลอดจนสหรัฐ ซึ่งมีผลงานที่แข็งแกร่ง ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ เยอรมนีเป็นประเทศพัฒนาแล้วทางเศรษฐกิจเพียงแห่งเดียว ที่มีการหดตัวทางเศรษฐกิจเมื่อปี 2566 และรัฐบาลเคยระบุว่า เศรษฐกิจคาดว่าจะหดตัวเล็กน้อยอีกครั้งในปีนี้ ก่อนที่จะเริ่มฟื้นตัวในปีถัดไป
วิกฤติเหล่านี้รวมถึงผลงานที่ย่ำแย่อย่างต่อเนื่องของบริษัทยักษ์ใหญ่ของเยอรมนี เช่น โฟล์คสวาเกน ที่ขู่จะปิดโรงงานในเยอรมนีเป็นครั้งแรก และผู้ผลิตรายอื่น ๆ ในภาคเคมีภัณฑ์และเภสัชกรรม
นายโยอาคิม นาเกล ประธานธนาคารกลางเยอรมนี เตือนว่า หากนาย โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ ยังคงเดินหน้านโยบายเก็บภาษีนำเข้าสินค้าทั้งหมด อาจทำให้ผลผลิตของเยอรมนีลดลงอีก 1%.
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES