“ข้าพเจ้า จะรักษาไว้ซึ่ง ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ไว้เป็นมรดกตกทอด แก่ลูกหลาน สืบต่อไป” นี่คือคำปฏิญาณที่พนักงานพิทักษ์ป่าต้องตระหนักในจิตสำนึก และเป็นสิ่งย้ำเตือนในหน้าที่และความรับผิดชอบ แต่ที่ผ่านมาก็ยังมีข้าราชการป่าไม้บางส่วนทุจริต ทั้งที่พวกเขาคือผู้ที่อยู่เบื้องหลังการรักษาให้คงไว้ซึ่งต้นไม้ทุกต้น แห่งผืนป่าแผ่นดินไทย
หากจะยกตัวอย่างคดีดังฉาวโฉ่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ย่อมหนีไม่พ้น คดีระหว่างวันที่ 26-28 มี.ค. 62 หน่วยเฉพาะกิจปราบปรามพิเศษ (พยัคฆ์ไพร) สนธิกำลังร่วมกับหน่วยเฉพาะกิจปฏิบัติการพิเศษผู้พิทักษ์อุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า (พญาเสือ) เจ้าหน้าที่ศูนย์ป้องกันและปราบปรามที่ 2 กรมป่าไม้ หน่วยปฏิบัติการพิเศษที่ 29 กรมป่าไม้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง กำนัน และผู้ใหญ่บ้านเข้าตรวจสอบเรื่องร้องเรียน ตามนโยบายและข้อสั่งการของ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สมัยนั้น) นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (สมัยนั้น)
ร่วมกันออกตรวจปราบปรามการกระทำความผิด กรณีมีการลักลอบแปรรูปไม้หวงห้าม ภายในเขตอุทยานแห่งชาติภูแลนคา จ.ชัยภูมิ โดยจากการลงสืบสวนหาข่าวที่ได้มาจากเรื่องร้องเรียนและการสืบสวน พบว่า มีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูแลนคา ตัดไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติ เพื่อก่อสร้างบ้านพักอาศัย โดยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูแลนคา (สมัยนั้น) รู้เห็นและอนุญาตให้ดำเนินการ และมีลักลอบแปรรูปไม้หวงห้ามมาซุกซ่อนไว้ในบ้านหลังดังกล่าว เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงเข้าดำเนินการตรวจสอบพื้นที่ตามที่รับแจ้ง
โดยได้เข้าตรวจสอบบ้านไม่มีเลขที่ สอบถามผู้ใหญ่บ้าน บ้านสระ หมู่ที่ 8 ต.โนนกอก อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ พบว่ากำลังอยู่ระหว่างยื่นเอกสารขอบ้านเลขที่ บริเวณพิกัด 815900 E 1790787 N นอกเขตอุทยานแห่งชาติ พบบุคคลชาย 4 คน กำลังก่อสร้างบ้านอยู่ จึงได้สอบข้อมูล ชายทั้ง 4 คน ให้ข้อมูลตรงกันว่า เป็นเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูแลนคา ได้รับคำสั่งจากหัวหน้าอุทยานฯ ให้มาก่อสร้างบ้านหลังดังกล่าว และมองเห็นภายในมีไม้แปรรูปกองอยู่
จากนั้น ชุดพยัคฆ์ไพรและชุดพญาเสือ สนธิกำลังเข้าตรวจสอบบ้านหลังดังกล่าว พบกองไม้แปรรูปจำนวนมากซุกซ่อนอยู่ภายในบ้าน อำพรางปกคลุมด้วยตาข่ายพรางแสงสีดำ ตรวจสอบโดยละเอียด พบว่าเป็นไม้ประดู่แปรรูป 88 แผ่น ปริมาตร 4.49 ลบ.ม. มูลค่า 314,300 บาท ไม่มีรอยดวงตราประทับของเจ้าหน้าที่ สอบถามผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านดังกล่าว ให้ข้อมูลจนทราบว่า เป็นบ้านของคนในพื้นที่
ขณะเดียวกัน คณะเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปตรวจสอบหาตอไม้ตามที่ได้รับแจ้งพิกัด เมื่อเดินทางไปถึงพิกัด 809569 E 1771976 N ตามที่ได้รับแจ้ง ปรากฏพบร่องรอยการตัดและแปรรูปไม้จริง มีขี้เลื่อยจำนวนมากกองกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ ตรวจสอบตอไม้และปีกไม้ปรากฏพบว่า เป็นไม้ประดู่ และน่าจะเป็นไม้ต้นเดียวกันกับไม้ประดู่แปรรูปที่เจ้าหน้าที่ตรวจพบในบ้านหลังข้างต้น และยังพบว่าพิกัดตอไม้ดังกล่าวอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูแลนคา
คณะพนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้ร่วมกันตรวจยึดไม้หวงห้ามแปรรูปดังกล่าว พร้อมทั้งได้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ครอบครองที่ดิน เจ้าของบ้าน ผู้ครอบครองไม้หวงห้ามแปรรูป ส่งพนักงานสอบสวน สภ.บ้านเดื่อ ดำเนินการตามกฎหมาย
ในส่วนของกรมอุทยานฯ ภายหลังปรากฏข่าวฉาวโฉ่ ทำให้ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (สมัยนั้น) ลงนามหนังสือคำสั่งย้าย นายเติมศักดิ์ น้อยนารายณ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูแลนคา (สมัยนั้น) โดยให้ไปปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา)
จากนั้น ถูกตั้งคณะกรรมสอบสวนวินัยร้ายแรง โดย นายสมศักดิ์ ภู่เพ็ชร เป็นประธาน ก่อนที่คณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง จะชี้ว่าไม่ผิดวินัยร้ายแรง ขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างการรอลงนามของอธิบดีกรมอุทยานฯ.