เมื่อวันที่ 26 พ.ย. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก พนักงานสืบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ ควบคุมตัว นางวิลาวัลย์ พุทธสัมฤทธิ์ อายุ 62 ปี ผู้ต้องหาที่ 1 และนายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช อายุ 41 ปี ผู้ต้องหาที่ 2 ในคดี ร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 5(1), (3) มาตรา 9 และมาตรา 60
โดยพฤติการณ์ตามคำร้องระบุว่า กรณีกล่าวหา บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด นายวรัตน์พล วรัทย์กุล หรือบอสพอล กับพวก รวม 19 ราย มีพฤติการณ์ร่วมกันหลอกลวงกลุ่มผู้เสียหายด้วยการเปิดรับสมัครให้เข้ารับการอบรมขายสินค้าออนไลน์ โดยหลอกว่าจะสอนวิธีการขายของออนไลน์ และมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม มีกลุ่มผู้เสียหายหลงเชื่อเข้าอบรม บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด กับพวกจะแนะนำชักจูงให้ผู้กล่าวหากับพวกร่วมลงทุนซื้อสินค้าของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ไปจำหน่าย โดยทำให้หลงเชื่อว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ เมื่อลงทุนซื้อสินค้าไปแล้ว ทางบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด กับพวก จะเริ่มชักชวนให้ผู้เสียหายลงทุนตามแผนการลงทุนที่บริษัทจัดทำขึ้น และอ้างกับผู้เสียหายว่าสามารถทำรายได้เป็นจำนวนมากจากการขายสินค้าออนไลน์
นอกจากนี้ บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด กับพวก ได้เผยแพร่แผนประกอบธุรกิจการจ่ายค่าตอบแทนเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ และมีจุดประสงค์มุ่งเน้นการหาผลประโยชน์ตอบแทนจากการชักชวนบุคคลอื่นมาสมัครเป็นสมาชิกมากกว่าการขายสินค้า และบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด กับพวก อ้างว่าตนเองได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนในระบบขายตรง แต่ความเป็นจริงทางบริษัทกับพวก ไม่ได้รับอนุญาตตามที่อ้าง ซึ่งเป็นการปกปิดข้อเท็จจริงหรือแสดงข้อความเป็นเท็จ และกลุ่มผู้ต้องหาได้ร่วมกันกระทำความผิดโดยแบ่งหน้าที่กันทำ เพื่อโฆษณาหรือเชิญชวนผู้เสียหายมาร่วมลงทุนกับบริษัท เพื่อให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราสูง แต่ทางบริษัทกับพวก ไม่มีการนำเงินที่ได้รับจากผู้เสียหายไปประกอบตามที่กล่าวอ้างไว้กับผู้เสียหาย เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายเป็นจำนวนมากตามที่ได้นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น
ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้บริหารและเครือข่ายของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด กับพวก ว่าร่วมกันกระทำความผิดฐาน ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันทุจริตในการนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรง โดยตกลงว่าจะให้ประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้เข้าร่วมเครือข่าย ซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมที่เพิ่มขื้น
จากการรวบรวมพยานหลักฐาน พบว่า มีการโอนเงินจากชื่อบัญชี บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด และบัญชีเงินฝากของนายวรัตน์พล วรัทย์กุล และต่อมามีข้อเท็จจริงว่า ได้โอนเงินไปยังบัญชีของนางวิลาวัลย์ ผู้ต้องหาที่ 1 จำนวน 15 ครั้ง รวมเป็นเงินจำนวน 2,589,999 บาท และมีการโอนเงินไปยังบัญชีเงินฝากของนายสามารถ ผู้ต้องหาที่ 2 จำนวน 14 ครั้ง เป็นจำนวนเงิน 475,000 บาท อย่างไรก็ตาม มูลนิธิทนายประชาชนฯ ได้ส่งหนังสือขอให้ตรวจสอบการกระทำของนายสามารถ พร้อมกับส่งคลิปเสียงจำนวน 2 คลิป ซึ่งเป็นไฟล์เสียงสนทนาระหว่างนายวรัตน์พลและนายสามารถ
เมื่อพนักงานสอบสวนได้ตรวจสอบข้อมูลบัญชีธนาคารและธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้อง พบข้อมูลบัญชีเงินฝากของนางวิลาวัลย์ มีการเคลื่อนไหว ตั้งแต่ช่วงวันที่ 1 ม.ค. 2561-28 ต.ค. 2567 พบว่ามีการทำธุรกรรมผ่านบัญชีหลักร้อยล้านบาท โดนเป็นการโอนเงินไปยังบัญชีอื่นจำนวน 103,813,577.04 บาท และรับโอนเงินจากบัญชีอื่นจำนวน 88,894,306.46 บาท ซึ่งตรวจสอบการโอนเงินเข้าบัญชีของนายสามารถ 5 บัญชี พบยอดเงินในบัญชีมากกว่า 14 ล้านบาท มีการโอนเงินจากนายวรัตน์พล จำนวน 2.5 ล้านบาท และมีการรับโอนเงินจากผู้ต้องหารายอื่น เป็นหนึ่งในผู้เกี่ยวข้องกับบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ซึ่งอยู่ระหว่างการสืบสวน
นอกจากนี้ จากการตรวจสอบการโอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของนางวิลาวัลย์ ไปยังบัญชีเงินฝากของนายสามารถ เป็นเงินรวมกว่า 34 ล้านบาท เมื่อปรากฏธุรกรรมการโอนเงินหมุนเวียนจำนวนหลักร้อยล้านบาท ของนางวิลาวัลย์ แต่กลับไม่ปรากฏข้อมูลการยื่นแบบแสดงการเสียภาษีของกรมสรรพากรแต่อย่างใด การกระทำของนายวรัตน์พล นางวิลาวัลย์ และนายสามารถ จึงเป็นพฤติการณ์ที่เข้าข่ายการรับโอน เปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิดเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดที่มา หรือเพื่อช่วยผู้อื่นไม่ว่าก่อน ขณะ หรือหลังการกระทำผิด ไม่ให้ต้องรับโทษ หรือรับโทษน้อยลง
การกระทำของผู้ต้องหาที่ 1-2 เป็นความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน
ในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาที่ 1-2 ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
โดยพนักงานสอบสวนยังทำสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น เนื่องจากต้องสอบสวนพยานอีก 30 ปาก รอผลพิสูจน์ของกลาง รอผลการตรวจลายนิ้วมือและประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหาที่ 1-2
เจ้าหน้าที่สอบสวนจำเป็นต้องขอหมายขังผู้ต้องหาที่ 1-2 ไว้ระหว่างการสอบสวนมีกำหนด 12 วัน นับตังแต่วันที่ 26 พ.ย.-7 ธ.ค. 67
ทั้งนี้ โดยพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากเป็นบุคคลตามหมายจับ มีการกระทำที่ลักษณะเป็นเครือข่าย และบุคคลทั้ง 3 ราย เป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกัน และมีผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก หากให้ประกันตัวเกรงว่าจะหลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานฟอกเงิน โดยนายสามารถ ผู้ต้องหาที่ 2 เป็นบุคคลที่เคยมีตำแหน่งทางการเมือง เป็นบุคคลกว้างขวางมีความใกล้ชิดกับบุคคลที่มีอำนาจ และมีศักยภาพทางการเงินสูง จึงเชื่อว่าปล่อยตัวผู้ต้องหาไปจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน อีกทั้งพบว่าภายหลังจากมีคลิปเผยแพร่การสนทนาระหว่างนายวรัตน์พล ผู้ต้องหาตามหมายจับ และนายสามารถ ผู้ต้องหาที่ 2 เรื่องการเรียกรับเงิน กรณี บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด
หลังจากนั้น ทนายของผู้ต้องหา ได้ให้สัมภาษณ์สื่อเกี่ยวกับกรณีการเรียกรับเงินดังกล่าว ซึ่งเป็นการโอนเงินระหว่างนายวรัตน์พล ให้ ผู้ต้องหาที่ 1 ก่อนจะโอนไปยังผู้ต้องหาที่ 2 ว่าเป็นเงินฝากทำบุญและการกู้ยืมเงิน ซึ่งเป็นการเตรียมการให้การเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ในลักษณะบิดเบือนข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในคดี และผลจากการตรวจค้นบ้านพักอาศัยของผู้ต้องหาที่ 2 มีการจัดเตรียมพยานหลักฐานชี้แจงแก่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ อันอาจสร้างความสับสนหลงประเด็นต่อการรวบรวมพยานหลักฐาน หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา 1-2 อาจจะพากันหลบหนีได้
ศาลอาญาพิจารณาคำร้องและสอบถามผู้ต้องหาทั้งสองแล้ว ไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้ฝากขัง.