เมื่อวันที่ 27 พ.ย. ที่อาคารประชาอารักษ์ กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ รอง ผบช.ก. และพล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป. พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงผลการเปิดปฏิบัติการ “CIB ขยี้มังกรเทา” เข้าจับกุมขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ พร้อมจับกุมคนไทย และชาวต่างชาติ 15 ราย และยึดของกลาง 190,000 กว่ารายการ

พล.ต.ท.จิรภพ เปิดเผยว่า การจับกุมแก๊งกางเกง Call Center ในครั้งนี้ สืบเนื่องจากวันที่ 23 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถบุกจับกุมแก๊ง Call Center ได้และยึดของกลางได้ประมาณ 22,830 ซิมการ์ด และอื่นๆ อีกหลายชิ้น จึงทำการสืบสวนสอบสวนขยายผลจนกระทั่งมีหลักฐานที่แน่ชัด จึงทำการบุกตรวจค้น 21 จุด ในจังหวัดเชียงใหม่ กระทั่ง เมื่อวันที่ 26 พ.ย. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมตัว น.ส.จิราพรรณ อายุ 30 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 5692/2567 และผู้ดูแลอุปกรณ์ภายในจุดติดตั้งในที่พักอาศัย

อีกทั้งยังจับกุมผู้ร่วมขบวนการได้อีก 14 ราย แบ่งเป็นชายไทย 1 ราย ชาวจีน 5 ราย และชาวเมียนมา 8 ราย ในข้อหา ร่วมกันทำมีใช้นำเข้านำออกหรือค้าซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต และยึดของกลางเป็น ซิมการ์ดไทย 350,000 ชิ้น, ซิมการ์ดฮ่องกง 150,000 ชิ้น และที่เหลือเป็นซิมการ์ดประเทศอื่นๆ รวมมากกว่า 5.9 แสนซิมการ์ด รวมถึงเครื่อง GSM gateway หรือ simbox 642 เครื่อง และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งในแก๊งดังกล่าวยังมีผู้ต้องหาอีก 2 รายอยู่ระหว่างติดตามจับกุม และตรวจค้นสถานที่เพิ่มเติม

จากการสอบสวนทราบว่า แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ดังกล่าวมีพฤติกรรมแบบนี้มาเป็นระยะเวลา 2 ปี โดยให้ น.ส.จิราพรรณ ทำหน้าที่เป็นผู้จัดหาสถานที่ และนำอุปกรณ์ประเภทซิมบ็อกซ์เข้ามาติดตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้ซิมบ็อกซ์ในการประกอบธุรกิจสร้างบัญชีโซเชียลมีเดียปลอม ก่อนนำไปขายให้กับกลุ่มอาชญากรรมออนไลน์ เพื่อใช้ในการกระทำความผิดรูปแบบต่างๆ และใช้อุปกรณ์ซิมบ็อกซ์ส่งข้อความผ่านระบบเพื่อยืนยันตัวตน

เมื่อได้รับการตอบรับกับผ่านทางโอทีพี ก่อนจะนำไปโพสต์ขายในกลุ่มลับในราคา 1 หยวนหรือประมาณ 5 บาท ก่อนจะนำรหัสโอทีพีมาสร้างตัวตนหรือบัญชีในแอปพลิเคชันต่างๆ เพื่อปลอมเป็นบุคคลอื่นที่มีจริง ก่อนใช้อุปกรณ์ดัดแปลงสภาพประกอบกับตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือ เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับของอัลกอริทึมในระบบรักษาความปลอดภัยของโซเชียลมีเดีย ทำให้ระบบคอมพิวเตอร์เข้าใจว่า บัญชีดังกล่าวเป็นผู้ใช้จริง เป็นการอัปราคาไปอีกระดับหนึ่ง เพื่อให้ผู้ต้องหาสามารถจำหน่ายในราคาที่สูงขึ้น ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ในระหว่างการตรวจสอบว่านำมาขายในราคาเท่าไร.