จากกรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ภายใต้การอำนวยการของ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มอบหมายให้ พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน ดำเนินการสืบสวนสอบสวนในคดีหมูเถื่อนและคดีเนื้อสัตว์เถื่อนนานาชนิดที่ถูกลักลอบเข้ามายังราชอาณาจักรไทยโดยผิดกฎหมาย แบ่งเป็น 3 คดีพิเศษ ประกอบด้วย คดีพิเศษที่ 59/2566 หรือหมูเถื่อน 161 ตู้ คดีพิเศษที่ 126/2566 หรือคดีหมูเถื่อน 2,388 ตู้ เเละคดีพิเศษที่ 127/2566 หรือคดีเนื้อสัตว์เถื่อนนานาชนิด (หมูเถื่อน ตีนไก่สวมสิทธิ โคเถื่อน) กว่า 10,000 ตู้ เพื่อขยายผลติดตามจับกุมผู้กระทำความผิด หรือมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 และ พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558
โดยในส่วนของคดีพิเศษที่ 59/2566 คณะพนักงานสอบสวนได้มีการแยกเป็น 9 คดีพิเศษ คือ 101/2566-109/2566 เพื่อดำเนินคดีกับรายบริษัทชิปปิ้งเอกชน ก่อนหน้านี้พนักงานสอบสวนได้มีการส่ง 9 สำนวนให้ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงเรียบร้อยแล้ว อันประกอบด้วย คดีพิเศษที่ 59/2566 คดีพิเศษที่ 101/2566 คดีพิเศษที่ 102/2566 คดีพิเศษที่ 103/2566 คดีพิเศษที่ 104/2566 คดีพิเศษที่ 105/2566 คดีพิเศษที่ 106/2566 คดีพิเศษที่ 108/2566 และคดีพิเศษที่ 109/2566 เนื่องด้วยพบว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐจากกรมปศุสัตว์และกรมศุลกากร เข้ามาเกี่ยวข้องทุจริต ทำให้จึงอยู่ระหว่างสรุปสำนวนส่ง ป.ป.ช. อีกเพียง 1 สำนวน เป็นคดีพิเศษที่ 107/2566 รายบริษัท ซี เวิร์ล โฟรเซ่น ฟู้ดส์ จำกัด ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 28 พ.ย. พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มอบหมายให้ พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 126/2566 นายเมธีวัฒน์ คำเสือ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ ร.ต.อ.ชาญณรงค์ ทับสาร รอง ผอ.กองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ลงพื้นที่ตรวจสอบกรณีลักลอบนำเข้าสุกรและชิ้นส่วนไก่ โดยได้นำหมายค้นศาลจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 4 หมาย เข้าตรวจค้นอาคารบ้านพักและบริษัทเอกชนในพื้นที่ อ.สันทรายน้อย อ.สารภี และ อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ จำนวน 4 จุด เพื่อพบพยานหลักฐานอันเป็นประโยชน์ต่อการสืบสวนสอบสวน ประกอบด้วย จุดที่ 1 บริษัท จำกัด (สำนักงานใหญ่) อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ จุดที่ 2 บริษัท จำกัด (สาขาที่ 4) อ.สารภี จ.เชียงใหม่ จุดที่ 3 และ จุดที่ 4 เป็นบ้านพัก จำนวน 2 หลัง ต.ป่าตัน อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นสถานที่จัดเก็บเอกสารของขบวนการลักลอบนำเข้าสินค้าประเภทชิ้นส่วนซากสุกรแช่แข็ง
คณะพนักงานสอบสวน ระบุว่า ผลการตรวจค้นจุดที่ 1 บริษัท จำกัด (สำนักงานใหญ่) อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ และจุดที่ 2 บริษัท จำกัด (สาขาที่ 4) อ.สารภี จ.เชียงใหม่ พบเอกสารเกี่ยวกับการรับตู้สินค้าจากบริษัทแห่งหนึ่งที่นำสินค้าออกจากท่าเทียบเรือแหลมฉบังมายังบริษัทดังกล่าว เป็นสินค้าประเภทชิ้นส่วนซากสุกรแช่แข็งประเภทเนื้อหมูสามชั้น และเอกสารที่เกี่ยวข้องกับตู้สินค้า จำนวน 15 ตู้ แต่ไม่พบสินค้า เนื่องจากได้จำหน่ายไปหมดแล้ว จึงได้ตรวจยึดไว้เป็นหลักฐาน ส่วนจุดที่ 3 และ จุดที่ 4 ซึ่งเป็นบ้านพัก จำนวน 2 หลัง ต.ป่าตัน อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ จากการตรวจค้นไม่พบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบนำเข้าสินค้าประเภทชิ้นส่วนซากสุกรแช่แข็ง แต่กลับพบว่ามีกลุ่มบุคคลมาเช่าบ้านหลังดังกล่าวข้างต้นและใช้สถานที่ดำเนินกิจการเว็บพนันออนไลน์ ประเภทเว็บพนันฟุตบอลออนไลน์ และการพนันออนไลน์ประเภทอื่น ๆ เช่น สล็อต รูเล็ต บาคาร่า ฯลฯ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ จึงได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการตรวจยึดและอายัดของกลางเป็นจำนวนมาก ได้แก่ โน๊ตบุ๊ค 20 เครื่อง โทรศัพท์ 50 เครื่อง ซิมการ์ดชนิดเติมเงินยังไม่เปิดใช้งาน 5,000 ชิ้น จึงได้ยึดไว้เป็นหลักฐานเพื่อดำเนินการตรวจสอบขยายผล
คณะพนักงานสอบสวน เผยต่อว่า สาเหตุที่เข้าตรวจค้นพื้นที่ 4 เป้าหมายใน จ.เชียงใหม่ ครั้งนี้นั้น เนื่องด้วยได้ทำการสอบสวนแล้วพบว่าบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งมีผู้ต้องหาในคดีพิเศษที่ถูกดำเนินคดีไปก่อนหน้านี้ ในความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 และ พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 เป็นผู้ใช้ให้บริษัทชิปปิ้งที่ถูกดำเนินคดีแล้วเช่นกัน เป็นตัวแทนนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในประเทศไทย จำนวนกว่า 200 ตู้คอนเทนเนอร์ แต่ละตู้มีน้ำหนักประมาณ 25,000 กิโลกรัม โดยสำแดงสินค้าเป็นปลาจึงไม่ต้องเสียภาษีศุลกากรตามกฎหมาย อ้างในใบอนุญาตนำหรือเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ เข้า ออก ผ่านหรือภายในเขตโรคระบาดชั่วคราว เขตโรคระบาด หรือเขตเฝ้าระวังโรคระบาด (ร.3) ว่า นำไปฝากที่บริษัทห้องเย็นในจังหวัดสมุทรสาคร คณะพนักงานสอบสวนจึงได้นำหมายค้นศาลอาญาเข้าตรวจค้นบริษัทดังกล่าว ปรากฏข้อเท็จจริงว่า บริษัทห้องเย็นดังกล่าวไม่ได้รับฝากสินค้าดังกล่าวแต่อย่างใด
ฉะนั้น เมื่อไปตรวจค้นบริษัทดังกล่าวแล้วไม่พบว่ามีการรับฝากสินค้า จึงได้กลับไปตรวจสอบการนำเข้าสินค้าตั้งแต่ต้นทางจากการท่าเรือแหลมฉบัง และศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง พบว่ามีรายการขนย้ายตู้สินค้าออกจากท่าเรือแหลมฉบังจำนวนมากส่งขึ้นมาทางภาคเหนือของประเทศไทย และพบว่ามีจำนวน 15 ตู้ เมื่อรวมมูลค่าของค่าภาษีอากร ภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าปรับแล้ว ประมาณจำนวนเงิน 127,500,000 บาท โดยมีชิปปิ้งเป็นตัวแทนบริษัทนำเข้า เป็นผู้ทำพิธีการศุลกากร มีการใช้รถขนส่งของบริษัทขนส่ง จำนวน 3 บริษัท พนักงานสอบสวนจึงได้สอบปากคำพยานผู้นำส่งของทราบว่า บริษัทแห่งหนึ่ง โดยมีผู้ต้องหาที่ถูกดีเอสไอจับกุมดำเนินคดีไปแล้ว ได้นำตู้คอนเทนเนอร์สินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) ดังกล่าว ไปส่งมอบที่ห้องเย็นของบริษัทที่ตั้งอยู่ใน ต.ชมภู อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ทั้งนี้ คณะพนักงานสอบสวนได้ตรวจสอบเส้นทางการเงินจากสำนักงาน ปปง. ในการซื้อขายสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) ดังกล่าว ระหว่างบริษัทแห่งหนึ่งกับบริษัทที่เข้าทำการตรวจค้น พบว่า เบื้องต้นมีการโอนเงินระหว่างกันของทั้งสองบริษัทในช่วงเวลาเกิดเหตุ จำนวนมากว่า 24 ล้านบาท คณะพนักงานสอบสวนจึงได้ทำการนำหมายค้นของศาลจังหวัดเชียงใหม่ เข้าทำการตรวจค้นบริษัทที่รับสินค้าไว้และสถานที่เก็บเอกสารที่เกี่ยวข้อง.