เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เฝ้าระวังติดตามป้องกัน และแก้ไขปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่น PM 2.5 อย่างเข้มงวดตามนโยบาย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะการบูรณาการเพื่อเข้าแก้ปัญหาดับไฟอย่างรวดเร็วเมื่อเกิดไฟป่าในพื้นที่ข้างทาง เพื่อลดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ และผู้ที่ใช้เส้นทางสัญจร นอกจากนี้ได้เน้นย้ำให้จัดเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนพร้อมรถบรรทุกน้ำ เพื่อรับมือสถานการณ์หมอกควันและฝุ่น PM 2.5 ฉีดพ่นละอองน้ำ และบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมแก้ไขสถานการณ์ที่ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน
นางมนพร กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ได้ร่วมรณรงค์ลดฝุ่นควัน สนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการป้องกัน และแก้ปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือ โดยผลักดันโครงการนำร่องนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรออกจากแปลงป้องกันการเผา พร้อมส่งเสริมหมู่บ้านปลอดการเผา ให้ชุมชนตระหนักรู้ และขับเคลื่อนการลดปัญหาฝุ่นควันอย่างยั่งยืน จากสถานการณ์ปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือ ที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว สังคม เศรษฐกิจ รวมถึงสุขภาพประชาชน ซึ่งมีหลายสาเหตุปัจจัย ถือเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขจริงจัง ภาครัฐต้องประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักรู้ต่อเกษตรกร และประชาชนในพื้นที่ สร้างความเข้าใจในการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันทางภาคเหนือที่ถูกต้อง และสร้างความร่วมมือของประชาชนอย่างต่อเนื่อง
นางมนพร กล่าวอีกว่า สำหรับการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในภาพรวมทั่วประเทศ กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมในการลดปัญหา พร้อมให้รายงานผลการดำเนินงาน และรวบรวมข้อมูล รวมถึงประมวลผลของการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ให้กระทรวงคมนาคมได้รับทราบ ทุกวันที่ 15 และ 30 ของทุกเดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.67 จนกว่าจะมีประกาศสิ้นสุดสถานการณ์วิกฤต หรือจนกว่าจะมีข้อสั่งการให้ยุติการรายงาน
ในส่วนของกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ขณะนี้พบว่า ปริมาณฝุ่น PM 2.5 ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จึงได้จัดมาตรการภายใต้แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ระยะเร่งด่วน โดยจะเร่งดำเนินการ 4 มาตรการ ได้แก่ 1.ตรวจสอบและบำรุงรักษายานพาหนะของหน่วยงานให้มีสภาพดี มีค่าควันดำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง 2.การเปลี่ยนไปใช้น้ำมันเชื้อเพลิง/พลังงานสะอาด เช่น น้ำมันไบโอดีเซล B10 และ B20 รวมถึงการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) 3.การแก้ไขปัญหาการจราจรติดบริเวณหน้าด่านเก็บเงินค่าผ่านทางบนทางพิเศษทุกสายทาง และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 4.การลดฝุ่นละออง โดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม และพื้นที่ของภาคคมนาคม มีการปล่อยฝอยละอองน้ำแรงดันสูง เพื่อลดฝุ่นและเข้มงวดให้ผู้รับเหมาฉีดน้ำและรักษาความสะอาด และดำเนินการตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่กำหนด รวมทั้งติดตามตรวจสอบยานพาหนะและอุปกรณ์ในพื้นที่ก่อสร้างให้อยู่ตามมาตรฐานอย่างเคร่งครัด หากไม่ผ่านห้ามนำมาใช้โดยเด็ดขาดจนกว่าจะปรับปรุงให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน.