สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ว่า กลุ่มรณรงค์ “ดิกนิตี อิน ดายอิง” (Dignity in Dying) ยกย่องผลการลงมติครั้งนี้ว่าเป็น “ก้าวสำคัญสู่ทางเลือกและการคุ้มครองที่ดีขึ้น” สำหรับผู้ใกล้เสียชีวิต แต่กลุ่ม “คริสเตียน คอนเซิร์น” (Christian Concern) กล่าวว่า ร่างกฎหมายข้างต้นถือเป็นเรื่องน่าสลดใจ สำหรับกลุ่มผู้เปราะบางในสหราชอาณาจักร
ในการลงมติครั้งแรกเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว สมาชิกสภาสามัญมีมติ 330 ต่อ 275 เสียง เห็นชอบกับการทำการุณยฆาตที่ถูกต้องตามกฎหมาย ภายหลังการอภิปรายที่ยาวนานเกือบ 5 ชั่วโมง โดยมีกลุ่มผู้ประท้วงส่งเสียงอยู่ด้านนอกอาคารรัฐสภาสหราชอาณาจักร
แม้ร่างกฎหมาย “Terminally Ill Adults (End of Life)” เข้าสู่ขั้นตอนต่อไป ซึ่งฝ่ายนิติบัญญัติสามารถเสนอการแก้ไขได้ แต่มีแนวโน้มว่ากระบวนการดังกล่าวจะเผชิญกับอุปสรรค เนื่องจากกฎหมายต้องผ่านการลงมติเพิ่มเติมในสภาสามัญ และสภาขุนนาง ซึ่งน่าจะใช้เวลานานหลายเดือน และถ้าได้รับการรับรองจากรัฐสภา การเปลี่ยนแปลงกฎหมายก็คาดว่าจะเกิดขึ้นในอีกหลายปี
ทั้งนี้ นางคิม ลีดบีเทอร์ สมาชิกสภาสามัญจากพรรคแรงงาน ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของสหราชอาณาจักร กล่าวในการอภิปรายว่า การเปลี่ยนแปลงกฎหมายข้างต้นจะทำให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายมีทางเลือก อิสระ และศักดิ์ศรี ในช่วงสุดท้ายของชีวิตของพวกเขา ขณะที่ผู้สนับสนุนหลายคนให้เหตุผลว่า การุณยฆาตจะทำให้การเสียชีวิตในบางกรณีเจ็บปวดน้อยลง
อย่างไรก็ตาม สมาชิกสภาสามัญคนอื่นแสดงความกังวลว่า ผู้คนอาจรู้สึกเหมือนถูกบังคับให้เลือกการุณยฆาต เช่นเดียวกับบางคนที่มองว่า การุณยฆาตอาจเลือกปฏิบัติต่อผู้พิการ ส่วนผู้คัดค้านจำนวนมากกล่าวเสริมว่า หน่วยงานบริการสุขภาพแห่งชาติ (เอ็นเอชเอส) ยังไม่พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ และกฎหมายอาจทำให้การลงทุนในการดูแลแบบประคับประคองลดลง.
เครดิตภาพ : AFP