แม้ว่า ‘ขวดแก้ว’ จะเป็นวัสดุที่ดูใสสะอาดและเป็นมิตรต่อเครื่องดื่ม ทว่ากระบวนการผลิตและการจัดการขวดแก้วนั้น กลับส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในหลากหลายมิติ เนื่องจากการผลิตขวดแก้วต้องอาศัยพลังงานจำนวนมากในการหลอมวัตถุดิบที่อุณหภูมิสูง ซึ่งกระบวนการดังกล่าวปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศ นอกจากนี้ การขุดหาทรายและวัตถุดิบอื่นๆ ที่ใช้ในการผลิตแก้วก็ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในพื้นที่ทำเหมืองอีกด้วย

เมื่อพิจารณาถึงวงจรชีวิตของขวดแก้ว จะพบว่าแม้ขวดแก้วจะสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้หลายครั้ง แต่กระบวนการรีไซเคิลก็ยังคงต้องใช้พลังงานและทรัพยากรในการหลอมแก้วใหม่ แม้ว่าจะน้อยกว่าการผลิตขวดแก้วใหม่ก็ตาม และถึงแม้ว่าแก้วจะไม่ย่อยสลายตามธรรมชาติ แต่เศษแก้วที่แตกหักและปนเปื้อนอาจก่อให้เกิดปัญหาในการจัดการขยะและอาจเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตหากไม่จัดการอย่างถูกวิธี

ดังนั้น ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของขวดแก้วจึงเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับทั้งกระบวนการผลิต การใช้งาน และการจัดการขยะ การลดผลกระทบเหล่านี้จำเป็นต้องมีการพิจารณาอย่างรอบด้าน ทั้งในระดับผู้ผลิต ผู้บริโภค และภาครัฐ เพื่อส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนมากขึ้น

ดังที่ล่าสุด ‘บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน)’ หรือ HTC ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์ ‘โคคา-โคล่า’ ใน 14 จังหวัดภาคใต้ ทุ่มเม็ดเงินกว่า 3 พันล้าน สร้างโรงงานแห่งใหม่ ณ อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดสายการผลิตขวดแก้วที่ผสานเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากล พร้อมโชว์ระบบการดำเนินงานที่ยั่งยืน ใน 4 ด้าน ได้แก่ นวัตกรรมการผลิต การจัดการน้ำ การใช้พลังงานสะอาด และการส่งเสริมบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน ถือเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นของบริษัทในการเติบโตทางธุรกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนในภาคใต้ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050

จอห์น เบเนเดตตี รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการอาวุโส – ซัพพลายเชน บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา หาดทิพย์มุ่งมั่นพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ ควบคู่ไปกับการดำเนินงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ การใช้พลังงานสะอาด ตลอดจนการส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน ล่าสุด หาดทิพย์ได้เปิดสายการผลิตขวดแก้วใหม่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการสร้างซัพพลายเชนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“ด้วยความมุ่งมั่นในการส่งมอบผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงให้กับผู้บริโภค พร้อมทั้งร่วมพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่นและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หาดทิพย์จึงเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับภาคใต้ของประเทศไทย” เบเนเดตตี กล่าวต่อ

ด้านนวัตกรรมการผลิต

นวัตกรรมสายการผลิตขวดแก้วใหม่ล่าสุดของโรงงานพุนพิน ได้รับการออกแบบให้มีมาตรฐานระดับโลกตามหลักเกณฑ์ของโคคา-โคล่า โดยมีจุดเด่นคือ กำลังการผลิตที่สูงถึง 800 ขวดต่อนาที สามารถผลิตได้ทั้งขวดแก้วชนิดคืนขวดและไม่คืนขวด ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของบริษัทที่มุ่งเน้นการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

กระบวนการผลิตขวดแก้วรีไซเคิลนั้น เริ่มต้นจากการรวบรวมขวดแก้วที่ใช้แล้วมาทำความสะอาดและคัดแยก เพื่อกำจัดสิ่งปนเปื้อนต่างๆ เช่น ฝาขวด ฉลาก หรือเศษอาหาร จากนั้นขวดแก้วที่ผ่านการคัดแยกจะถูกนำไปบดให้มีขนาดเล็กลง ซึ่งเรียกว่า ‘cullet’ ก่อนนำไปหลอมรวมกับวัตถุดิบอื่น ๆ ในเตาหลอมที่อุณหภูมิสูง เพื่อให้แก้วหลอมละลายและขึ้นรูปเป็นขวดแก้วใบใหม่ตามต้องการ

แน่นอนว่าการผลิตขวดแก้วรีไซเคิล มีข้อดีหลายประการ อาทิ ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญ โดยการลดปริมาณขยะ ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ทรายและโซดาแอช ตลอดจนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกระบวนการผลิตแก้วใหม่ นอกจากนี้ การรีไซเคิลแก้วยังช่วยประหยัดพลังงานได้มากถึง 30% เนื่องจากแก้วมีจุดหลอมเหลวต่ำกว่าวัตถุดิบในการผลิตแก้วใหม่ อีกทั้งแก้วรีไซเคิลยังมีคุณภาพเทียบเท่ากับแก้วใหม่ ทำให้สามารถนำไปใช้บรรจุผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายชนิด และที่สำคัญ การรีไซเคิลขวดแก้วยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับขยะ และส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนได้เป็นอย่างดี

ไม่เพียงเท่านี้ ที่โรงงานพุนพิน ยังมีการออกแบบลังบรรจุภัณฑ์ใหม่ที่ช่วยป้องกันการกระแทก ทำให้ขวดแก้วสามารถใช้งานได้ยาวนานยิ่งขึ้น และใช้ฉลากกระดาษที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ด้านการจัดการน้ำ

โรงงานพุนพินให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมุ่งเน้นการลดการใช้น้ำและการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ในทุกขั้นตอนการผลิตที่ไม่เกี่ยวข้องกับส่วนประกอบของเครื่องดื่ม และเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงได้ดำเนินการหลายมาตรการเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว เช่น การปรับปรุงกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย อาทิ การปรับขนาดหัวฉีดล้างขวดแก้ว การติดตั้งเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนแบบแผ่น และการนำระบบล้างรถอัตโนมัติที่ใช้น้ำหมุนเวียนมาใช้ ซึ่งส่งผลให้สามารถลดปริมาณการใช้น้ำในกระบวนการผลิตได้ในปริมาณมาก

นอกจากนี้ ยังได้นำโครงการ ‘UF Recover Backwash’ มาใช้ ด้วยการเปลี่ยนมาใช้ไส้กรอง Ultrafiltration ซึ่งจะช่วยให้น้ำสะอาดสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้มากขึ้น ทำให้ลดปริมาณการใช้น้ำลงได้ถึง 44,513 ลูกบาศก์เมตรต่อปีเมื่อเทียบกับระบบเดิม และลดการใช้น้ำในกระบวนการผลิตลงได้ถึง 9%

สำหรับการจัดการน้ำเสีย โรงงานพุนพินได้สร้างระบบบำบัดน้ำเสียแบบบ่อปรับเสถียรบนพื้นที่ 26 ไร่ ซึ่งเป็นระบบที่ใช้พลังงานต่ำและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยกระบวนการทางชีวภาพในการย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสียให้มีคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด ก่อนปล่อยกลับสู่สิ่งแวดล้อม

ด้านการใช้พลังงานสะอาด

หาดทิพย์เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด โดยได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาอาคารผลิตและแผงโซลาร์เซลล์ลอยน้ำจำนวนมากที่โรงงานพุนพิน ซึ่งช่วยให้สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ภายในโรงงานได้ถึง 19% ของการใช้พลังงานทั้งหมด และลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ หาดทิพย์ยังมีแผนที่จะขยายการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพิ่มเติม เพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากการใช้พลังงานแสงอาทิตย์แล้ว ยังให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานทดแทนอื่นๆ เช่น การใช้รถยกไฟฟ้าในคลังสินค้าและรถขนส่งที่ใช้เชื้อเพลิง NGV รวมถึงการติดตั้งหม้อไอน้ำที่ใช้เชื้อเพลิง LPG และระบบหมุนเวียนความร้อนกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งเป็นการลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมถึงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อีกทางหนึ่ง และเพื่อให้แน่ใจว่าความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ หาดทิพย์ได้ดำเนินการประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมขององค์กรเป็นประจำทุกปี และขอรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรและผลิตภัณฑ์จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

ด้านการส่งเสริมบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน

หาดทิพย์ได้นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีน้ำหนักเบา ลดปริมาณการใช้พลาสติกและอะลูมิเนียม ซึ่งส่งผลให้ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีนัยสำคัญ ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา โดยที่ผ่านมาสามารถลดปริมาณการใช้พลาสติกใหม่ในการผลิตบรรจุภัณฑ์ลงถึง 911 ตัน และลดการใช้อะลูมิเนียมลง 404 ตัน ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 4,670 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และยังคงตั้งเป้าหมายที่จะลดน้ำหนักพลาสติกในบรรจุภัณฑ์ลงอีก 800 ตันในปี 2567

นอกจากการลดปริมาณการใช้พลาสติกแล้ว หาดทิพย์ยังส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น การใช้ขวดแก้วและฉลากกระดาษที่ย่อยสลายได้ รวมถึงการร่วมมือกับพันธมิตรในการนำบรรจุภัณฑ์พลาสติก PET ที่ใช้แล้วกลับมาแปรรูปใหม่ให้เป็นบรรจุภัณฑ์ใหม่ได้ถึง 100% อีกทั้งยังสนับสนุนการนำบรรจุภัณฑ์อื่นๆ เช่น กระป๋องเครื่องดื่มกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอีกด้วย

และเพื่อเป็นการสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อม หาดทิพย์ได้ดำเนินโครงการต่างๆ อาทิ แคมเปญ ‘โค้ก ชวนแยก แลกลุ้นโชค’ กับ Trash Lucky ในจังหวัดภูเก็ตและสงขลา โครงการประกวดชั้นวางสินค้าจากวัสดุรียูส และโครงการส่งเสริมผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานจากฝาขวดพลาสติกร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์และลดปริมาณขยะที่ถูกทิ้งลงสู่สิ่งแวดล้อม

สอดคล้องกับการที่ ‘นันทิวัต ธรรมหทัย’ รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ องค์กรสัมพันธ์และการสื่อสาร บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หาดทิพย์ ในฐานะผู้ดำเนินธุรกิจในภูมิภาคนี้มานาน ตระหนักดีถึงความสำคัญของการเติบโตไปพร้อมกับชุมชนท้องถิ่น ดังนั้น นอกเหนือจากการมุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนภาคใต้ควบคู่กันไป ด้วยความเชื่อมั่นว่า ความสำเร็จที่แท้จริงนั้นเกิดจากการที่ธุรกิจสามารถดำเนินงานไปพร้อมกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างรับผิดชอบ และพนักงานทุกคนของหาดทิพย์ต่างรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการส่งมอบความสดชื่น และร่วมสร้างสรรค์การเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับชุมชนภาคใต้

ทั้งนี้ ในอนาคต หาดทิพย์มีแผนที่จะทยอยย้ายการผลิตเครื่องดื่มในบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วจากโรงงานหาดใหญ่มายังโรงงานพุนพิน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2567 โดยการลงทุนครั้งนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและเสริมสร้างความแข็งแกร่ง ควบคู่ไปกับการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมให้กับธุรกิจของหาดทิพย์ในระยะยาว