เกาหลีใต้เผชิญกับบรรยากาศที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบเกือบครึ่งศตวรรษ เมื่อประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล สร้างความประหลาดใจอย่างยิ่งให้กับทุกฝ่ายทั้งในและต่างประเทศ ด้วยการประกาศกฎอัยการศึก
แม้ผู้นำเกาหลีใต้อ้างถึง “กองกพลังต่อต้านรัฐ” และ “ภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ” ว่าแทรกซึมเข้ามาในประเทศ แต่หลังจากนั้น ยุนร่ายยาวถึงปัญหาทางการเมืองภายในประเทศ ที่ตอนนี้รัฐบาลเป็นฝ่ายครองเสียงข้างน้อยในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำให้การบริหารราชการแผ่นดินหลายเรื่องเป็นไปอย่างติดขัด รวมถึงการผ่านกฎหมายงบประมาณฉบับใหม่ ซึ่งฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล เกี่ยวกับการใช้จ่ายหลายโครงการ
อย่างไรก็ตาม ผู้นำเกาหลีใต้เพิกถอนคำสั่งของตัวเอง ภายในระยะเวลาอีกราว 6 ชั่วโมงต่อมา หลังสภานิติบัญญัติจัดการประชุมวาระฉุกเฉิน คัดค้านการใช้กฎอัยการศึก และประชาชนจำนวนมากกรวมตัวประท้วง
แม้ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการประกาศกฎอัยการศึกในเกาหลีใต้ และเกาหลีใต้เคยอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารและผู้นำที่ถือเป็นเผด็จการมาแล้วในอดีต แต่นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงระบอบการปครองของประเทศ มาใช้ระบบรัฐสภา เมื่อปี 2530 ไม่เคยมีการประกาศกฎอัยการศึกในเกาหลีใต้ ต่อให้ความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือตึงเครียดมากเพียงใดก็ตาม
ยุน ซึ่งเป็นอดีตอัยการ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีและเข้าสู่ทำเนียบอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือน พ.ค. 2565 มีแนวคิดอนุรักษนิยมค่อนข้างสุดโต่งในหลายเรื่อง ส่งผลให้ต้องเผชิญกับคะแนนนิยมที่ตกต่ำมาตลอด โดยคะแนนการยอมรับของประชาชนที่มีต่อยุน ในช่วงก่อนประกาศกฎอัยการศึก อยู่ที่ประมาณ 17-19% เท่านั้น
สถานการณ์ของรัฐบาลเกาหลีใต้ยิ่งตึงเครียดมากขึ้น เมื่อเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ “อย่างย่อยยับ” ให้กับฝ่ายค้าน ในการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลกลายเป็นเสียงข้างน้อย
นอกเหนือจากความขัดดแย้งเรื่องงบประมาณ กรณีอื้อฉาวหลายเรื่อง ที่ส่วนใหญ่เชื่อมโยงไปถึงนางคิม คอน-ฮี ภริยาและสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการปั่นหุ้น การพยายามแทรกแซงอำนาจบริหาร และการรับของกำนัลที่อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งยุนเพิ่งออกมาแถลงขอโทษประชาชนอย่างเป็นทางการ เมื่อไม่นานมานี้ และประกาศจัดตั้งสำนักงานตรวจสอบการปฏิบัติงานของสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง
กระนั้น ฝ่ายค้านยังคงเดินหน้าต่อ ด้วยการยื่นญัตติให้มีการถอดถอนผู้ตรวจการแผ่นดิน และอัยการสูงสุด เนื่องจากล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ในการดำเนินการตามกฎหมายเพื่อสอบสวนภริยาของประธานาธิบดี
สถานการณ์การเมืองของเกาหลีใต้นับจากนี้ อยู่บนเส้นทางของความไม่แน่นอน และมีแต่จะตึงเครียดมากยิ่งขึ้น เมื่อคณะที่ปรึกษาอาวุโสตบเท้าลาออก ฝ่ายค้านเตรียมยื่นถอดถอน และแม้แต่แกนนำพรรครัฐบาลยังแสดงความไม่เห็นด้วย กับการที่ผู้นำเกาหลีใต้ประกาศกฎอัยการศึก “อย่างไม่มีเหตุผล” นอกจากนี้ หนึ่งในสหภาพแรงงานประกาศสไตรก์ครั้งใหญ่ด้วย
อนาคตของยุน และเป้าหมายของการดำรงตำแหน่งให้ครบวาระ 5 ปี ที่กระท่อนกระแท่นมาตั้งแต่ต้น ยิ่งอยู่บนเส้นทางของความเสี่ยงที่มากขึ้น จากการตัดสินใจและกระทำของตัวผู้นำเกาหลีใต้เอง.
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES