สอดคล้องกับงานวิจัยล่าสุดที่พบว่า สารเคมีหลายชนิด อาทิ PFAS, พาทาเลต, พาราเบน และอะโรมาติกเอมีน ถูกเติมลงในบรรจุภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย และพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ทำให้การสัมผัสสารเคมีเหล่านี้ในชีวิตประจำวันกลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ข้อมูลดังกล่าวเป็นผลการวิจัยจาก ‘Silent Spring’ ที่เพิ่งถูกตีพิมพ์เมื่อไม่นานนี้ โดยได้เปิดเผยข้อมูลอันน่ากังวล เมื่อพบว่ามี สารเคมีที่ใช้ในเชิงพาณิชย์มากกว่า 900 ชนิดที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็ง เมื่อนำข้อมูลนี้มาเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติก พบว่ามีสารเคมีที่ตรงกันมากถึง 414 ชนิด นั่นหมายความว่า สารเคมีที่เราใช้ในชีวิตประจำวันผ่านผลิตภัณฑ์พลาสติก อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การเกิดโรคมะเร็ง
ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่านั้นคือ การศึกษาชิ้นนี้ยังชี้ให้เห็นว่า ผู้หญิงมีอัตราการเกิดมะเร็งก่อนอายุ 50 ปีสูงกว่าผู้ชายถึงสองเท่า และมะเร็งเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในกลุ่มผู้หญิง ซึ่งการสัมผัสกับสารเคมีจากพลาสติกอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อสถิติอันน่าตกใจนี้
นอกจากนี้ ยังอาจส่งผลกระทบต่อระบบฮอร์โมน มีฤทธิ์ก่อให้เกิดความผิดปกติทางพันธุกรรม หรืออาจรวมถึงทั้งสองอย่าง การเติมสารเคมีต่าง ๆ เช่น พาทาเลต และ PFAS ลงในพลาสติกเพื่อปรับปรุงคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์นั้น แม้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งาน แต่ก็อาจนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้บริโภคได้ โดยเฉพาะสารอะโรมาติกเอมีน ซึ่งมักใช้เป็นสีย้อมและมีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งสูง
“ดร.รูเดล” (Ruthann Rudel) หนึ่งในทีมวิจัยจาก Silent Spring Institute กล่าวว่า รัฐบาลแต่ละประเทศจะต้องมีการวางนโยบายในการควบคุมการใช้สารเคมีที่เป็นพิษอย่างเร่งด่วน โดยยํ้าว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรปรับเปลี่ยนวิธีการจากการจัดการสารเคมีแต่ละชนิดให้เป็นการจัดการกลุ่มสารเคมีที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมสารเคมีอันตรายได้เป็นอย่างมาก เนื่องจากการจัดการสารเคมีเป็นรายตัวนั้นถือเป็นภารกิจที่ใหญ่เกินกว่าจะดำเนินการได้อย่างครอบคลุม
ทั้งนี้ เธอยังเสนอหนึ่งในวิธีการลดปัญหาการสัมผัสกับสารก่อมะเร็งที่ผู้หญิงสามารถทำได้ง่าย ๆ นั่นคือ การหลีกเลี่ยงการใช้พลาสติกในครัวเรือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเครื่องครัวและบรรจุภัณฑ์อาหาร เนื่องจากอาหารเป็นช่องทางสำคัญที่ร่างกายสัมผัสกับสารเคมีที่อาจปนเปื้อนมาจากพลาสติกได้โดยตรง ดังนั้น การหันมาเลือกใช้ภาชนะและบรรจุภัณฑ์อาหารที่ทำจากวัสดุธรรมชาติหรือวัสดุที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ จึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่าในระยะยาว
“ผู้คนไม่จำเป็นต้องรู้จักสารเคมีแต่ละชนิด เพียงแค่พยายามใช้พลาสติกให้น้อยลงก็จะดีต่อโลกและต่อพวกเขาเอง นี่แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเล็กน้อย เช่น การลดการใช้พลาสติก สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อทั้งสุขภาพส่วนบุคคลและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมาก” ดร. รูเดล กล่าวทิ้งท้าย.