เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ตนประชุมคณะทำงานด้านการลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยเรื่องดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของน.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ที่อยากขจัดความลดควาเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยไม่ทิ้งใครข้างหลัง ดังนั้นจากนโยบายของรมว.ศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงรับมาดำเนินการมาขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติ โดยนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้มอบหมายให้ตนเป็นประธานคณะทำงานขับเคลื่อนในเรื่องนี้ ซึ่งในที่ประชุมได้หารือถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาว่ามีกี่ประเภท และสาเหตุปัญหาที่ต้องหลุดจากระบบการศึกษา เพื่อแบ่งรูปแบบการแก้ไขปัญหาให้ได้อย่างตรงจุด  

“สพฐ.มุ่งมั่นจะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานี้ให้ได้ ซึ่งจะวางแนวทางมอบหมายหน่วยงานทีเกี่ยวข้องค้นหาเด็กตกหล่นที่หลุดนอกระบบการศึกษาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่าอยู่ตรงไหน เขตไหน อำเภออะไร เพื่อนำเด็กเหล่านี้เข้าสู่ระบบการศึกษาให้ได้ เพราะส่วนหนึ่งเรามีข้อมูลจากการจ่ายเงินเยียวยาให้แก่นักเรียนและผู้ปกครอง จำนวน 2,000 บาท จะต้องระบุตัวตนของนักเรียน แต่เรากลับพบว่า มีเด็กจำนวนหนึ่งยังไม่มีการติดต่อเข้ารับการจัดสรรเงินจำนวนดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนั้นเราจะค้นหาจากฐานข้อมูลนี้ด้วย สำหรับเด็กที่มีเหตุจำเป็นต้องย้ายตามครอบครัวจนทำให้หลุดระบบการศึกษานั้นเราจะตามไปค้นหาด้วยเช่นกัน เพราะหากเด็กไม่สะดวกจะเรียนในระบบได้จริงๆก็อาจมาเรียนการศึกษานอกระบบแทน หรือการสร้างอาชีพให้เกิดรายได้เลี้ยงครอบครัว เนื่องจาก สพฐ.ทำงานร่วมกับ กศน. อาชีวศึกษา และภาคเอกชนต่างๆ อยู่แล้ว” รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าว