เมื่อวันที่ 1 พ.ย. นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แถลงข่าวความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ ว่า หลังจากศาลล้มละลายกลางแต่งตั้งคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.64 บริษัทฯ ได้ดำเนินการตามแผนเพื่อเร่งให้บรรลุเป้าหมาย เน้นลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้ จากโครงการปฏิรูปธุรกิจ (Transformation Initiatives) ที่พัฒนาจากการระดมสมองพนักงานกว่า 400 โครงการ พบว่า ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ 4.4 หมื่นล้านบาทต่อปี อาทิ ด้านบุคลากร 1.6 หมื่นล้าน, ปรับลดฝูงบิน 1.2 หมื่นล้านบาท, เจรจาสัญญาเช่าเครื่องบิน 6.8 พันล้านบาท และเจรจาสัญญาซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ 4.5 พันล้านบาท

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวต่อว่า การบินไทยฯ กำลังเร่งดำเนินการเจรจากับผู้ให้เช่าอากาศยานในการจัดทำ Letter of Intent (LOI) เครื่องบิน โดยเปลี่ยนเป็นสัญญาระยะยาว และจ่ายจริงตามชั่วโมงการทำการบินให้เสร็จเรียบร้อยภายในสิ้นปี 64  เพื่อปรับลดค่าใช้จ่ายอากาศยาน ขณะนี้ดำเนินการแล้วเสร็จ 16 ลำ อย่างไรก็ตามบริษัทฯ จะมีรายได้จากการจำหน่ายเครื่องบินอีก 42 ลำด้วย รวมวงเงินประมาณ 8 พันล้านบาท ซึ่งขณะนี้ขายได้แล้ว 11 ลำ โดยได้ส่งเรื่องให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาอนุมัติแล้ว

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของบุคลากร ขณะนี้ได้รับความร่วมมือจากพนักงานทุกระดับในการสมัครใจเข้าร่วมรับการกลั่นกรองในโครงการปรับโครงสร้าง ลดขนาดองค์กร ปรับเปลี่ยนสภาพการจ้าง และโครงสร้างค่าตอบแทนบุคลากร โครงการลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือน รวมถึงโครงการร่วมใจจากองค์กร ปัจจุบันมีพนักงาน รวมแรงงานภายนอกเหลือประมาณ 1.5 หมื่นคน ซึ่งในช่วงปลายปี 64 จะพิจารณาปรับลดพนักงานในต่างประเทศเพิ่มเติม เพื่อให้เหลือพนักงานโดยรวมทั้งหมดประมาณ 1.45 หมื่นคน

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวด้วยว่า การดำเนินงาน 6 เดือนแรกของปี 64 ขาดทุนลดลง แต่ยังมีเงินไหลออกทุกเดือน จึงต้องหาทางหยุดไม่ให้เงินไหลออก ปัจจุบันบริษัทฯ มีสภาพคล่องเหลือ 6.5 พันล้านบาท ส่งผลให้มีความจำเป็นในการกู้เงิน เพื่อเสริมสภาพคล่อง และดำเนินกิจการตามแผนฟื้นฟูฯ โดยจะกู้เงินจากสถาบันการเงินภาคเอกชน 2.5 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะลงนามสัญญาได้ประมาณเดือน ธ.ค.64 และเบิกเงินได้ในเดือน ม.ค.65 โดยมั่นใจว่าเงิน 2.5 หมื่นล้านนี้ จะเพียงพอที่ทำให้สามารถเดินหน้า และสร้างความมั่นคงให้บริษัทฯ ต่อไปได้ แต่งบดุลอาจยังไม่ดีมากนัก หากได้สินเชื่อจากภาครัฐด้วยอีก 2.5 หมื่นล้าน จะทำให้บริษัทฯ มั่นคงมากขึ้น แต่สัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังจะไม่เกิน 40% ซึ่งบริษัทจะยังคงเป็นบริษัทเอกชนต่อไป

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวอีกว่า ภายในต้นปี 65 หากได้เงินกู้ 2.5 หมื่นล้านบาท ก็เพียงพอที่จะทำให้การดำเนินกิจการตามแผนที่วางไว้ สามารถดำเนินการได้โดยไม่สะดุด ซึ่งบริษัทฯ จะนำเงินกู้ 2.5 หมื่นล้านบาท ไปจ่ายคืนค่าตั๋วโดยสารล่วงหน้าที่มีการจองไว้ก่อนเกิดโควิด ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท และจ่ายพนักงานโครงการร่วมใจจากองค์กร ประมาณ 4 พันล้านบาท อย่างไรก็ตามคาดว่าปี 65 น่าจะมีรายได้มากขึ้นกว่ารายจ่าย และการบินไทยจะเริ่มฟื้นตัว โดยในปี 66 น่าจะเห็นกำไรที่ชัดเจน.