เมื่อวันที่ 26 ม.ค. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มีหนังสือบันทึกข้อความ เลขที่ 0009.2311/321 ลงวันที่ 24 ม.ค. เรื่อง กำชับและเตรียมความพร้อมการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับ รอง ผบก. ลงมา วาระประจำปี 2567 ผบช. จตร.(หน.จต.) หรือตำแหน่งเทียบเท่า ผบก. ในสังกัด สง.ผบ.ตร. หรือตำแหน่งเทียบเท่า ใจความว่า
ด้วยขณะนี้ใกล้เข้าสู่ห้วงระยะเวลาการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจดำรงตำแหน่งระดับรอง ผบก. ลงมา วาระประจำปี 2567 ซึ่งจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนด ตามกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ พ.ศ.2567 ประกอบมติ ก.ตร. ในการประชุมครั้งที่ 8/2567 เมื่อ 7 ต.ค.67
และครั้งที่ 1/2567 เมื่อ 10 ม.ค.68
เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนที่จะเริ่มดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจดำรงตำแหน่ง รอง ผบก. ลงมา ผบ.ตร. ในฐานะผู้รับผิดชอบกำกับดูแลการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจ 63 (5) แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 จึงกำชับให้ผู้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการแต่งตั้งตั้งราชการตำรวจต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 และกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ พ.ศ.2567 อย่างเคร่งครัด โดยยึดถือความถูกต้อง เป็นธรรม และมีความโปร่งใสในทุกกระบวนการ ดังนี้
1.การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับ รอง ผบก. ลงมาใน บช. ที่มิได้สังกัด สง.ผบ.ตร. เป็นอำนาจของ ผบช. สำหรับการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจในสังกัด สง.ผบ.ตร. เป็นอำนาจของ ผบ.ตร. โดยให้นำข้อมูลการเสนอแต่งตั้งของหัวหน้าส่วนราชการระดับรองลงมา ที่ได้มีการพิจารณาเสนอในรูปคณะกรรมการตามที่กำหนดมาประกอบการพิจารณาด้วย หากมีความเห็นแตกต่างจากข้อมูลการเสนอแต่งตั้งของหัวหน้าราชการ ให้ชี้แจงเหตุผลต่อคณะกรรมการพิจารณาการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 มาตรา 79 และมาตรา 81
1.1 การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น ให้พิจารณาจากอาวุโส ผลงาน ศักยภาพ ความประพฤติ ความรู้ความสามารถ ความชำนาญ ความถนัด ทักษะ ความสมัครใจ ความจำเป็นของทางราชการ และมุ่งหมายให้ผู้นั้นได้มีโอกาสปฏิบัติหน้าที่ด้านต่างๆ อย่างหลากหลาย โดยจะนำความคิดเห็นทางการเมืองหรือสังกัดพรรคการเมืองมาประกอบการพิจารณามิได้ สำหรับการพิจารณาความรู้ความสามารถ ให้คำนึงถึงประวัติการรับราชการ ผลการปฏิบัติงาน ความประพฤติ และผลการประเมินความพึงพอใจที่ประชาชนหรือผู้รับบริการได้รับจากการให้บริการของข้าราชการตำรวจ ประกอบด้วย ตามมาตรา 60(3) มาตรา 76 และมาตรา 82
1.2 การแต่งตั้งสับเปลี่ยนหมุนเวียน ให้พิจารณาจากกลุ่มสายงานที่ผู้นั้นมีความรู้ ความสามารถ ทักษะ ความสมัครใจ ความชำนาญ ความถนัด ความจำเป็นของราชการ และมุ่งหมายให้ผู้นั้นได้มีโอกาสปฏิบัติหน้าที่ด้านต่างๆ อย่างหลากหลาย ตามมาตรา 76
1.3 การจัดทำข้อมูลผู้เหมาะสมเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น และการจัดทำบัญชีผู้ไม่สมควรที่จะได้รับการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น ให้นำรายชื่อข้าราชการตำรวจในสังสังกัดทุกคนที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีอาวุโสมาพิจารณาจากองค์ประกอบต่างๆ ประกอบด้วยประวัติการรับราชการ ผลการปฏิบัติงาน ความประพฤติ และผลการประเมินความพึงพอใจที่ประชาชนหรือผู้รับบริการได้รับจากการให้บริการของข้าราชการตำรวจประกอบกัน ตามที่กำหนดไว้ไปใน กฎ ก.ตร.ฯ ข้อ 26
1.4 การจัดทำข้อมูลการเสนอแต่งตั้งข้าราชการตำรวจตาม พ.ร.บ.ตำรวจฯ มาตรา 79 ให้เป็นความรับผิดชอบของคณะกรรมการจัดทำข้อมูลเสนอแต่งตั้งตั้งที่จะต้องตรวจสอบคุณสมบัติ และความเหมาะสมของข้าราชการตำรวจที่ได้รับการเสนอเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น ซึ่งต้องเป็นผู้ที่มีความรู้
ความสามารถ มีผลงานที่ชัดเจน สามารถตรวจสอบได้ และตรงกับความเป็นจริงตามที่กำหนดในกฎ ก.ตร.ฯ ข้อ 40
ทั้งนี้ การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น และสับเปลี่ยนหมุนเวียนในกลุ่มสายงานใดสายงานหนึ่ง ต้องมีระยะเวลาการดำรงตำแหน่งในกลุ่มสายงานนั้นๆ เป็นไปตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 มาตรา 83 และมาตรา 84 และต้องมีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งตรงตามที่ ก.ตร. กำหนด ตามมาตรา 90
2.การไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ตร. สามารถใช้อำนาจทางปกครองดำเนินการกรณี ผบช. ใช้อำนาจสั่งแต่งตั้งโดยไม่เป็นธรรม หรือมีกรณีไม่ชอบด้วยหลักเกณฑ์หรือวิธีการที่ ก.ตร. กำหนด หรือไม่ยึดถือความถูกต้องเป็นธรรมได้ โดยการสั่งให้ข้าราชการตำรวจไปช่วยราชการที่ ศปก.ตร. ตามข้อ 9 แห่งระเบียบ ตร. ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการตำรวจไปช่วยราชการภายใน ตร. พ.ศ.2566 และจะมีการพิจารณาตรวจสอบการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมดังกล่าว รวมถึงการพิจารณาดำเนินการทางวินัยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ หากมีข้าราชการตำรวจร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค.ตร. อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจแต่งตั้งของ ผบช. ที่ไม่เป็นธรรม และ ก.พ.ค.ตร. วินิจฉัยว่า ผบช. ผู้นั้นไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดใน พ.ร.บ.นี้ ผบ.ตร. ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาจะพิจารณาลงโทษผู้นั้นโดยไม่ต้องดำเนินการสอบสวนอีก แล้วรายงานให้ ก.ตร. ทราบ และหาก ก.ตร. มีมติว่าการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นการจงใจเพื่อช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใดหรือเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใด จะถือว่า ผบช. ผู้นั้นกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง และ ผบ.ตร. จะดำเนินการลงโทษผู้นั้นตามมาตรา 87 แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 จึงแจ้งมาเพื่อทราบและถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด