เมื่อวันที่ 28 ม.ค. นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง(ขร.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 ม.ค.68 ซึ่งเป็นวันทำงานวันแรกของสัปดาห์ และเป็นวันที่ 3 ที่มีมาตรการส่งเสริมให้ใช้บริการขนส่งสาธารณะสำหรับรถไฟฟ้าทุกสายฟรี เพื่อช่วยลดฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เกิดจากยานพาหนะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลตามข้อสั่งการของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พบว่า มีผู้ใช้บริการระบบรถไฟฟ้ารวม 2,098,591 คน-เที่ยว สูงสุดตั้งแต่มีสถานการณ์โควิด-19 (นิวไฮ) โดยมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นถึง 30.16% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยวันจันทร์ในสามสัปดาห์ของเดือน ม.ค.68 (ค่าเฉลี่ยฯ 1,612,338 คน-เที่ยว) โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 1. รถไฟฟ้า Airport Rail Link มีผู้ใช้บริการ 90,310 คน-เที่ยว (มากกว่าค่าเฉลี่ยฯ 15,272 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.35) สูงสุดตั้งแต่มีสถานการณ์โควิด-19(นิวไฮ),

2. รถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) มีผู้ใช้บริการ 46,126 คน-เที่ยว (มากกว่าค่าเฉลี่ยฯ 6,045 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 15.08%), 3. รถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สีน้ำเงิน) มีผู้ใช้บริการ 606,641 คน-เที่ยว (มากกว่าค่าเฉลี่ยฯ 113,873 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 23.11%) สูงสุดตั้งแต่มีสถานการณ์โควิด-19(นิวไฮ), 4. รถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สีม่วง) มีผู้ใช้บริการ 94,744 คน-เที่ยว (มากกว่าค่าเฉลี่ยฯ 13,719 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 16.93%) สูงสุดตั้งแต่มีสถานการณ์โควิด-19 (นิวไฮ)

5. รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว (สายสุขุมวิทและสายสีลม) มีผู้ใช้บริการ 1,059,221 คน-เที่ยว (มากกว่าค่าเฉลี่ยฯ 254,970 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 31.70%) สูงสุดตั้งแต่มีสถานการณ์โควิด-19 (นิวไฮ) (รถไฟฟ้าสายสีเขียว มีผู้ใช้บริการสูงสุดเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.62 ที่เปิดให้บริการฟรี ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 1,132,224 คน-เที่ยว) 6. รถไฟฟ้าสายสีทอง มีผู้ใช้บริการ 16,459 คน-เที่ยว (มากกว่าค่าเฉลี่ยฯ 9,696 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 143.37%) 7. รถไฟฟ้าสายนัคราพิพัฒน์ (สีเหลือง) มีผู้ใช้บริการ 78,010 คน-เที่ยว (มากกว่าค่าเฉลี่ยฯ 31,491 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 67.70%) และ8. รถไฟฟ้าสายสีชมพูให้บริการ มีผู้ใช้บริการ 107,080 คน-เที่ยว (มากกว่าค่าเฉลี่ยฯ 41,187 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 62.51%)

นายพิเชฐ กล่าวอีกว่า หากเรียงลำดับตามร้อยละที่เพิ่มขึ้น จะพบว่า มีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีทองเพิ่มมากขึ้น 1.43 เท่าเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยสามวันจันทร์ที่ผ่านมา รองลงมาคือรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู เพิ่มขึ้น 67.70% และ 62.51% ตามลำดับ โดยทั้งสามสายทางเป็นระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง (feeder) ที่มีเส้นทางผ่านที่อยู่อาศัยของประชาชนและเชื่อมโยงกับรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนหลัก และยังส่งผลให้รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนหลัก มีจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้นจนมีผู้ใช้บริการมากสุดตั้งแต่มีสถานการณ์โควิด-19 รวม 5 สายทาง ได้แก่ สายสีเขียว (สายสุขุมวิทและสายสีลม) สายเฉลิมรัชมงคล (สีน้ำเงิน) Airport Rail Link และ สายฉลองรัชธรรม (สีม่วง)

นายพิเชฐ กล่าวด้วยว่า สำหรับรถไฟระหว่างเมืองของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)ให้บริการรวม 211 ขบวน มีผู้ใช้บริการ 73,754 คน-เที่ยว ประกอบด้วย ผู้โดยสารขบวนรถเชิงพาณิชย์ 25,856 คน-เที่ยว และเชิงสังคม 47,898 คน-เที่ยว ลดลงจากค่าเฉลี่ยฯ 4,584 คน-เที่ยว หรือลดลง 5.85% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยวันจันทร์สามสัปดาห์ของเดือนมกราคม 2568 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ภาพรวมวันที่ 27 ม.ค.68 มีผู้ใช้บริการระบบรางรวม 2,172,345 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 481,669 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 28.49% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยวันจันทร์สามสัปดาห์ของเดือน ม.ค.68

นายพิเชฐ กล่าวด้วยว่า ในวันทำงานจะมีผู้ใช้บริการระบบรถไฟฟ้าจำนวนมากในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนเช้า และเย็น ขร. จึงได้ประสานผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าเพิ่มความถี่ในการให้บริการในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์ปริมาณผู้โดยสารที่สถานีรถไฟฟ้าต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อพิจารณาปรับเพิ่มความถี่ในการให้บริการเพิ่มเติม และเพิ่มช่องทางการออกบัตร/เหรียญโดยสารเพิ่มเติม สามารถรองรับการเดินทางของประชาชนได้อย่างเพียงพอ ส่งผลให้ผู้ใช้บริการระบบรางได้รับความสะดวก รวดเร็วและมีความปลอดภัยสูงสุดต่อไป.