เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 29 ม.ค. ที่อาคารประชาอารักษ์ พ.ต.อ.พัฒนศักดิ์ บุบผาสุวรรณ รรท.ผบก.ปคบ. และพ.ต.อ.วีระพงษ์ คล้ายทอง ผกก.4 บก.ปคบ. พร้อมด้วย นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงการจับกุมเภสัชกรเถื่อน 12 ราย แฝงร้านยาทั่วกรุงเทพฯ

พ.ต.อ.วีระพงษ์ กล่าวว่า ตำรวจบก.ปคบ. ได้รับเบาะแสจากประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครว่ามีเภสัชกรเถื่อนตามร้านขายยา จนสามารถติดตามและจับกุมเภสัชกรเถื่อนได้จำนวน 12 ราย ซึ่งเภสัชกรเถื่อนทั้ง 12 รายนั้น ไม่มีผู้ใดมีใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมสักราย โดย 12 ราย มีผู้จบ ม.6 5 คน, ปวส. 2 คน และจบปริญญาตรีที่ไม่ใช่เภสัชกรอีก 5 คน และจากการสืบสวนสอบสวนพบว่าทั้ง 12 รายเป็นเพียงลูกจ้างตามร้านขายยาต่างๆ เท่านั้น โดยส่วนมากร้านขายยามีการเปิดแบบถูกต้องตามกฎหมาย 

เบื้องต้นเภสัชกรเถื่อนทั้ง 12 ราย จะมีความผิดใน พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2537 มาตรา 28 ฐาน เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมทำการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมหรือแสดงด้วยวิธีใดๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีสิทธิประกอบวิชาชีพดังกล่าว โดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต และพ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 ฐาน ขายยาอันตรายในระหว่างที่เกสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ 

ส่วนเจ้าของร้านจะมีความผิดร่วมด้วย ในความผิดตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 ฐาน “ขายยาอันตรายในระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่“ นอกจากนี้เภสัชกรที่มีชื่อแขวนป้ายในร้านขายยาก็จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 ฐาน ไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลาทำการ รวมถึงไม่ควบคุมการขายยา ควบคุมการส่งมอบยาอันตราย และควบคุมการทำบัญชีซื้อและขายยาตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

ทั้งนี้ผู้ต้องหาทั้ง 12 รายให้การรับสารภาพทุกข้อกล่าวหา โดยผู้ต้องหาทั้งหมดให้การรับว่า รับจ้างเป็นพนักงานขายยาภายในร้านขายยาซึ่งอยู่ประจำร้านทุกวัน และจะมีเภสัชกรเข้ามาดูแลร้านเพียงเดือนละ 1-4 ครั้ง โดยได้รับค่าจ้างเดือนละ 12,000-30,000 บาท 

ขณะที่ นพ.วิทิต กล่าวว่า หากประชาชนกังวลว่าจะซื้อยาจากเภสัชกรจริงหรือไม่นั้น ให้สังเกตจากป้ายชื่อ โดยในป้ายดังกล่าวจะมีชื่อของเภสัชกรคนนั้นๆ และจะมีรูปภาพ เมื่อเข้าไปในร้านก็ให้สังเกตว่ารูปกับคนที่ขายยาให้นั้นตรงกันหรือไม่.