“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า ขณะนี้การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเชื่อมต่อรถไฟหนองคาย-เวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ยังอยู่ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ศึกษาออกแบบรายละเอียด และรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) วงเงินประมาณ 119 ล้านบาท หลังจากก่อนหน้านี้กรมทางหลวง (ทล.) ได้ศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว หนองคาย-เวียงจันทน์ แห่งที่ 2 แล้วเสร็จ คาดว่า รฟท. จะศึกษาออกแบบรายละเอียดฯ แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย. 68 จากนั้นจะเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท., กระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

เบื้องต้นจะเป็นการก่อสร้างสะพานใหม่ 2 แห่ง พร้อมปรับปรุงสะพานปัจจุบันให้เป็นสะพานรถยนต์เพียงอย่างเดียว โดยระยะที่ 1 จะก่อสร้างสะพานรถไฟใหม่ด้านทิศใต้ของสะพานปัจจุบัน ห่างจากสะพานเดิม 30 เมตร เป็นสะพานรถไฟ 4 ทาง (รถไฟขนาดทาง 1 เมตร 2 ทาง และรถไฟความเร็วสูงขนาดทางมาตรฐาน 1.435 เมตร 2 ทาง) พร้อมปรับปรุงสะพานเดิม ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 36 เดือน เริ่มก่อสร้างประมาณปี 2569 ก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการในปี 2572 และระยะที่ 2 จะก่อสร้างสะพานรถยนต์ใหม่ทางด้านทิศเหนือของสะพานปัจจุบัน อีก 2 ช่องจราจร รวมกับ 2 ช่องจราจรของสะพานเดิมเป็น 4 ช่องจราจร (2 ช่องจราจรต่อทิศทาง) ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 30 เดือน เริ่มก่อสร้างประมาณปี 2584 ก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการในปี 2587
ทั้งนี้การออกแบบทางรถไฟ จะเป็นการออกแบบเพิ่มเติมจากโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ซึ่งออกแบบสะพานข้ามแม่น้ำโขงสิ้นสุดที่ตลิ่งฝั่งประเทศไทย กิโลเมตรที่ 622+004.141 ของรถไฟขนาดทาง 1 เมตร โดยในโครงการจะออกแบบสะพานต่อเนื่องข้ามแม่น้ำโขง และเมื่อเข้าสู่ฝั่ง สปป.ลาว รถไฟขนาดทาง 1 เมตร จะเบี่ยงแนวเพื่อเข้าเชื่อมต่อกับทางรถไฟเดิม ส่วนรถไฟขนาดทางมาตรฐานจะสิ้นสุดที่บริเวณเชิงสะพานฝั่ง สปป.ลาว เพื่อเชื่อมต่อในอนาคต อย่างไรก็ตาม สำหรับรูปแบบโครงสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ เบื้องต้นพบว่ารูปแบบโครงสร้างสะพานคานยื่นสมดุล (Balanced Cantilever Bridge) เป็นรูปแบบที่เหมาะสมมากที่สุด

นอกจากนี้ ยังได้มีการออกแบบสถาปัตยกรรมป้ายชื่อสะพานทั้ง 2 ฝั่ง เบื้องต้นได้นำศิลปะล้านช้าง รวมทั้งสถาปัตยกรรมที่สวยงาม และมีความหมายมาผสมผสาน เป็นเครื่องหมายแห่งการต้อนรับด้วยมิตรไมตรี ตลอดจนการเคารพ และสืบทอดมรดกทางศิลปะอันทรงคุณค่า รวมทั้งรากเหง้าทางวัฒนธรรมที่มีร่วมกันระหว่างไทย และ สปป.ลาว อย่างไรก็ตาม สำหรับสะพานรถไฟดังกล่าวนี้ จะเป็นสะพานที่เชื่อมต่อประเทศไทย, สปป.ลาว, จีน และเวียดนาม เป็นการสะท้อนถึงความเชื่อมโยงที่ยั่งยืนระหว่างประเทศในภูมิภาคนี้ด้วย.