เมื่อวันที่  31 ม.ค. นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เปิดเผยว่า กระทรวงดีอีร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินมาตรการ “การยกระดับความปลอดภัยในการใช้โมบายแบงก์กิ้ง”  ซึ่งเป็นการสกัดกั้นบัญชีม้าที่เป็นเส้นทางก่ออาชญากรรมของมิจฉาชีพให้ชื่อผู้ใช้งานตรงกับชื่อเจ้าของซิมมือถือ

โดยที่ผ่านมาได้ตรวจสอบรายชื่อเจ้าของหมายเลขโทรศัพท์มือถือ 120 ล้านหมายเลข แล้วเสร็จเมื่อสิ้นเดือน พ.ย. 67 พบว่า ชื่อเจ้าของซิม และโมบายแบงกกิ้ง จำนวนประมาณ 75.8 ล้านหมายเลข คิดเป็น 63.02%  และชื่อเจ้าของซิม และโมบายแบงกกิ้ง ไม่ตรงกัน มีจำนวนประมาณ 30.9 ล้านหมายเลข คิดเป็น 25.68% และข้อมูลไม่ชัดเจน ไม่พบชื่อเจ้าของซิม  มีจำนวน 13.5 ล้านหมายเลข คิดเป็น 11.29%

สำหรับในกลุ่มชื่อไม่ตรง ทางธนาคารจะดำเนินการแจ้งประชาชน ผ่านช่องทางแอปพลิเคชันโมบายแบงก์กิ้งเท่านั้น ไม่มีการส่งเอสเอ็มเอสของแต่ละธนาคาร ตั้งแต่วันที่ 1-28  ก.พ.โดยประชาชนที่ได้รับแจ้งต้องดำเนินการอัปเดตข้อมูลชื่อเจ้าของซิม  และชื่อผู้ใช้งานโมบายแบงก์กิ้งให้ตรงกัน ภายในเวลา 90 วัน หรือสิ้นสุดวันที่ 30 เม.ย. 68 ผ่านศูนย์บริการมือถือ หากไม่ดำเนินการภายในเวลาที่กำหนด ปปง. ธปท. และ กสทช. จะพิจารณาระงับการใช้งานโมบายแบงก์กิ้งเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะแจ้งให้ตรง แต่ในระหว่างนี้ยังสามารถใช้เบิกถอนโดยสมุดบัญชีได้หมด

ส่วนกรณีของประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้รับการแจ้งผ่านช่องทางโมบายแบงก์กิ้งของแต่ละธนาคาร ยังไม่ต้องดำเนินการใด ๆ และสามารถใช้ได้ตามปกติ แม้ชื่อเจ้าของหมายเลขโทรศัพท์จะไม่ตรง

นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า  อย่างไรก็ตาม กระทรวงดีอี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการพิจารณายกเว้น ในกลุ่มบุคคลดังต่อไปนี้ 1.เบอร์มือถือที่จดทะเบียนในชื่อหน่วยงานราชการ (เช่น สำนักงานอัยการสูงสุด) หรือองค์กรที่ใช้โดยพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ จะได้รับการพิจารณาเป็นข้อยกเว้น และไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามมาตรการนี้ 2.ลูกค้าที่มีความจำเป็น หรือข้อจำกัดเฉพาะ เช่น ไม่สามารถเปลี่ยนเบอร์มือถือได้ เนื่องจากข้อจำกัดทางกฎหมาย หรือเอกสาร สามารถยื่นคำขอยกเว้น พร้อมเอกสารประกอบแสดงเหตุผลต่อธนาคาร

3.กลุ่มบุคคลในครอบครัว เช่น พ่อ แม่ บุตร พี่น้อง ปู่ ย่า ตา ยาย คู่สมรส (จดทะเบียน) โดยจะต้องแสดงเอกสารความสัมพันธ์ต่อธนาคาร ได้แก่ เอกสารที่ออกโดยหน่วยงานราชการ เช่น ทะเบียนบ้าน สูติบัตร ทะเบียนสมรส เป็นต้น และเอกสารแสดงความเป็นเจ้าของเบอร์โทรศัพท์ เช่น ใบกำกับภาษี ใบเสร็จ ค่าโทรศัพท์ 4.นิติบุคคล ได้แก่ บริษัทเอกชน หรือนิติบุคคลตามกฎหมาย (กรณีที่ลงทะเบียนในนามนิติบุคคล และให้พนักงานในองค์กรใช้งาน) จะต้องมีเอกสารรับรองจากบริษัท ที่มีข้อความระบุชื่อ เบอร์โทรศัพท์ และอนุญาตให้ใช้เบอร์โทรศัพท์ผูกโมบายแบงก์กิ้ง 5.ผู้ที่ต้องได้รับความดูแลตามกฎหมาย ได้แก่ ผู้ไร้ความสามารถ ผู้เสมือนไร้ความสามารถ และผู้พิการ จะต้องนำเอกสารตามคำสั่งศาลแต่งตั้งผู้อนุบาล หรือเอกสารตามคำสั่งศาลแต่งตั้งผู้พิทักษ์ บัตรผู้พิการ หรือเอกสารที่หน่วยงานราชการออกให้ มายื่นแสดงต่อธนาคาร

“มาตรการนี้จะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 68 ซึ่งประชาชนที่จะต้องดำเนินการติดต่อธนาคาร จะได้รับการแจ้งเตือนผ่านแอปของธนาคารโดยตรงเท่านั้น จะไม่มีการแจ้งเตือนประชาชนผ่านช่องทางอื่นๆ ที่ไม่ใช่โมบายแบงก์กิ้ง เพื่อป้องกันมิจฉาชีพหลอกลวง โดยการยกระดับมาตรการนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับการทำงานร่วมกันของกระทรวงดีอี กสทช. ปปง. ภาคธนาคารและภาคโทรคมนาคม เพื่อยกระดับการป้องกันและปราบปรามการก่ออาชญากรรมออนไลน์ของกลุ่มมิจฉาชีพ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ เพื่อสกัดเส้นทางการใช้บัญชีม้าในการหลอกลวงประชาชน ซึ่งรัฐบาลถือว่าเป็นนโยบายที่สำคัญ” นายประเสริฐ กล่าว