เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2568 ที่รัฐสภา นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การปกครอง สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงผลประชุมคณะ กมธ.การปกครอง หลังเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจง เรื่อง การหยุดจ่ายไฟชายแดนไทย-เมียนมา เนื่องจากพบแหล่งอาชญากรรมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ว่า คณะ กมธ.การปกครอง ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล เช่น กระทรวงมหาดไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กระทรวงการต่างประเทศ สำนักเลขาสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)
นายกรวีร์ กล่าวว่า ตนขอขอบคุณทางรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ที่แม้จะใช้ระยะเวลาดำเนินการหลายวัน โดยอาจจะมีการติดขัดขั้นตอนก็ได้มีมติคำสั่งจาก สมช. โดยให้ กฟภ. หยุดจ่ายไฟ เมื่อวันที่ 4 ก.พ. และเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 5 ก.พ.นี้ นายอนุทิน ได้กระทำการหยุดจ่ายไฟทันที และขอบคุณทุกหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้มีการดำเนินการแล้วเสร็จ ทั้งนี้ เราได้มีการสอบถามไปยัง สมช. โดยเป็นประเด็นที่ประชาชนสงสัย ในเรื่องของการโยนภาระกันไปมา ระหว่าง กฟภ. และ สมช. โดยทาง กฟภ. ให้เหตุผลว่าได้กำกับดูแลในส่วนของความมั่นคงตามสัญญาจริง และความเชี่ยวชาญของทาง กฟภ. คือเรื่องความมั่นคงทางด้านของพลังงาน หากมีปัญหาในเรื่องของความมั่นคงทางด้านของพลังงาน เช่น หากมีการนำไฟไปขายให้กับเพื่อนบ้านและไฟภายในประเทศของเรานั้นไม่พอใช้จนเกิดปัญหาเรื่องความมั่นคง ทาง กฟภ. สามารถจะพิจารณาและตัดสินใจได้ด้วยตนเองเลย
นายกรวีร์ กล่าวต่อว่า แต่ถ้าหากกระทบกับความมั่นคงในด้านอื่น เช่น อาชญากรรมข้ามชาติหรือเรื่องของธุรกิจสีเทา หรือการกระทำผิดกฎหมายอื่น ที่อยู่นอกเหนือความเชี่ยวชาญของทาง กฟภ. หากจะใช้ดุลพินิจไปตัดไฟคงจะไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสม ก็คงจะต้องเป็นทางด้านของฝ่ายความมั่นคงที่จะต้องตัดสินใจ จนทำให้เกิดความล่าช้า จึงได้เน้นย้ำไปว่าในครั้งต่อไป อยากจะให้มีความเร่งรัด เพราะนอกจากที่ประเทศเมียนมามีปัญหาเรื่องอาชญากรรมแก๊งคอลเซ็นเตอร์แล้ว ยังมีประเทศอื่นที่ใช้ไฟฟ้า และมีพฤติกรรมใกล้เคียงกับกรณี อาชญากรรมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ประเทศเมียนมาเช่นกัน ทั้งนี้เมื่อมีหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่ากระทบกับความมั่นคงของประเทศ ก็ขอให้ทาง สมช. เร่งดำเนินการให้เร่งรัดเหมือนกรณีประเทศเมียนมา
นายกรวีร์ กล่าวต่อว่า ทาง กฟภ. ยืนยันว่าหากมีคำสั่ง ยินดีที่จะหยุดจ่ายไฟตามที่มีคำสั่งของทางฝ่ายความมั่นคงมา อีกทั้งอยากที่จะมีการพูดคุยกับทาง สมช.และกระทรวงการต่างประเทศในกรณีเรื่องการหยุดจ่ายไฟจะมีกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและเมียนมาหรือไม่ ในส่วนของทางกระทรวงการต่างประเทศยืนยันว่าได้มีการทำงานร่วมกันกับทางฝั่งรัฐบาลของเมียนมาอย่างต่อเนื่อง คิดว่าไม่มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแต่อย่างใด เพราะทางรัฐบาลเมียนมาก็เข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และทางรัฐบาลไทยก็มีการประสานงานกันอย่างต่อเนื่อง
นายกรวีร์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามทาง กมธ. ได้ฝากถึงหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยการที่มีคำสั่งให้หยุดจ่ายไฟ ไม่ใช่หยุดจ่ายเฉพาะแค่ไฟ เพราะนอกจากจะหยุดจ่ายไฟแล้วสิ่งสาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น โทรคมนาคม หรือการส่งน้ำมันข้ามแดนไปตามที่ปรากฏเป็นข่าว ก็มีคำสั่งให้มีการควบคุมและมีการตัดในส่วนนี้ไปด้วย เพื่อที่จะไม่ให้มีการส่งไปให้กับประเทศเมียนมา ตนขอฝากไปยังคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ดูให้กรุณาเร่งรัดตัดสัญญาณต่าง ๆ ตามที่ สมช. ได้สั่งการมา
นายกรวีร์ กล่าวต่อว่า ในเรื่องผลกระทบความมั่นคงที่เกี่ยวกับกรณีอาชญากรรม แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับประเทศเพื่อนบ้าน นอกเหนือจากประเทศเมียนมานั้น ทาง สมช.ได้รับเรื่องไว้แล้ว และจะเร่งดำเนินการ ซึ่งปัจจุบันมีเบาะแสพอสมควร ที่ใช้ไฟจากประเทศไทย ในเร็ววันนี้หากมีข้อมูลที่ชี้ชัดว่ากระทบกับความมั่นคงของประเทศไทยก็จะมีการตัดไฟตามคำสั่งของ สมช.
เมื่อถามต่อว่า การตัดไฟในประเทศเมียนมานั้น อาจจะส่งผลกระทบกับโรงพยาบาลและผู้ป่วยตามแนวชายแดนในที่ประชุม กมธ. ได้มีการพูดคุยในเรื่องนี้หรือไม่ นายกรวีร์ กล่าวว่า ได้มีการพูดคุยซึ่งอาจจะกระทบกับประชาชนที่สุจริตที่อยู่ในเขตเมียนมา แต่อย่างไรก็ตามได้มีการแจ้งไปแล้ว ว่ามีปัญหาในเรื่องความมั่นคงจริง แต่ประเทศไทยก็ต้องมีการดำเนินการในการป้องกัน เพราะกระทบความมั่นคงในประเทศ แต่ทั้งนี้ก็ได้มีการแจ้งไปที่รัฐบาลเมียนมาเรียบร้อยแล้ว
เมื่อถามย้ำว่า ในที่ประชุม กมธ.ได้มีการพูดคุยถึงเรื่องข้อกังวลของ กฟภ.ที่ได้หยุดจ่ายไฟ โดยอาจถูกบริษัทคู่สัญญา ฟ้องกลับนั้น นายกรวีร์ กล่าวว่า ทาง กมธ.เองก็มีข้อห่วงใยในเรื่องนี้เช่นกัน และได้มีการสอบถามไปยัง กฟภ. แล้วว่ามีข้อกังวลหรือไม่ เพราะมีในเรื่องข้อสัญญาอยู่ ซึ่งอาจมีการฟ้องร้อง โดยทาง กฟภ.ก็ยืนยันว่าเป็นไปได้ที่จะถูกฟ้องร้อง แต่ก็มั่นใจว่าขั้นตอนต่าง ๆ ที่ทำลงไป ทำด้วยความรัดกุม และมีคำสั่งกับหน่วยงานของรัฐบาลที่ดูแลเรื่องความมั่นคงอย่างถูกต้อง รวมถึงได้มีการปฏิบัติทางสัญญาอย่างถูกต้อง ต่อให้มีปัญหาการฟ้องร้อง ทาง กฟภ. ก็มีหลักฐานที่จะไปสู้ในชั้นต่อไปได้
เมื่อถามว่า การฟ้องร้องในรูปแบบศาลไทยหรือศาลระหว่างประเทศนั้น นายกรวีร์ กล่าวว่า ยังไม่ทราบเพราะยังไม่เกิดขึ้นว่าจะฟ้องรูปแบบใด
เมื่อถามว่า ทาง กมธ.การปกครอง จะติดตามต่อหรือไม่ หากมีผลกระทบตามมา นายกรวีร์ กล่าวว่า ตนได้ฝากประเด็นไปยังส่วนความมั่นคงว่าหากตัดไฟไปแล้ว จะไม่เกิดเหตุการณ์ซ้ำขึ้นอีก ซึ่งก็ได้สอบถามไปยังกระทรวงการต่างประเทศแล้วว่าทางประเทศไทยจะสามารถใช้กำลังทางฝ่ายปกครอง และฝ่ายทหารเข้าไปปิดธุรกิจสีเทาที่กระทบต่อความมั่นคงประเทศได้หรือไม่ โดยทางกระทรวงการต่างประเทศยืนยันว่า หากกระทบในเขตประเทศไทยก็ต้องรักษาอธิปไตยของไทยไว้ อีกทั้งเน้นย้ำมาที่รัฐบาลเมียนมาว่าไม่อยากให้เกิดปัญหาเหล่านี้ซ้ำขึ้นอีก และเป็นอำนาจของรัฐบาลเมียนมาที่จะแก้ไขปัญหานี้
เมื่อถามว่า ทาง กมธ.จะมีการติดตามเรื่องนี้ต่อไปอย่างไรบ้าง นายกรวีร์ กล่าวว่า เราจะติดตามว่าหน่วยงานอื่นได้ดำเนินการไปแล้วหรือไม่ รวมถึงจะติดตามด้วยว่าประเทศอื่นใช้ไฟของประเทศไทยอยู่และมีปัญหากระทบกับความมั่นคง ทาง สมช.จะพิจารณาเสร็จเมื่อไหร่ เพราะ กฟภ.พร้อมมาก หวังว่าทาง สมช.จะดำเนินการอย่างรวดเร็ว หากพบและคิดว่ากระทบต่อความมั่นคงให้รีบแจ้งมาที่กระทรวงมหาดไทยและ กฟภ. เพื่อเร่งดำเนินการตัดไฟต่อไป.