ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ อย่างแก๊งคอลเซ็นเตอร์และสแกมเมอร์ เรื้อรังมาหลายปี และมีหลายขบวนการตั้งฐานอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน กระทำการหลอกลวงให้ประชาชนโอนเงิน การล่อลวงคนให้ไปทำงานกับแก๊งอาชญากรในคราบบริษัทเอกชน ซึ่งมีชาวไทยและชาวต่างชาติตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก

ทำให้รัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องถูกวิจารณ์อย่างหนักและต่อเนื่องว่าทำอะไรกันอยู่ ทำไมปัญหาดังกล่าวยังไม่มีทีท่าว่าจะลดหรือหมดไปได้ ซ้ำยังพบว่าขบวนการดังกล่าวบางส่วนมีฐานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เมืองชายแดนที่อยู่ตรงข้ามกับไทย และยังใช้ทรัพยากรที่มาจากฝั่งไทย ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า น้ำมัน สัญญาณอินเตอร์เน็ต จึงเกิดเสียงเรียกร้องของหลายๆฝ่ายให้รัฐบาลเร่งดำเนินการตัดตอนทรัพยากรข้างต้นทันที

แต่ทางการไทยกลับมีปัญหากันเองในการดำเนินการเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระงับจ่ายไฟไปยังพื้นที่ชายแดนฝั่งประเทศเมียนมาบางส่วนที่พบข้อมูลว่าเหล่าแก๊งอาชญากรรมข้ามชาติตั้งอยู่ แต่ผู้ซื้อไฟจากไทยเป็นบริษัทเอกชนที่ได้สัมปทานจากรัฐบาลเมียนมา ทำให้เรื่องนี้ซับซ้อน และเป็นเผือกร้อนในมือของผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ภายใต้การกำกับของกระทรวงมหาดไทยที่มีเจ้ากระทรวงอย่าง “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย รวมถึง “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง จนเกิดวิวาทะโต้กันผ่านสื่อเกี่ยวกับอำนาจดำเนินการเรื่องนี้

ส่งผลให้เรื่องยังคาราคาซัง ขณะที่แก๊งอาชญากรก่อเหตุไม่หยุดยั้ง จนถึงขั้นหลอกลวงและจับตัวดาราและนายแบบชาวจีน เกิดเป็นข่าวกระหึ่มไปทั่วโลก เป็นปัญหาใหญ่ให้รัฐบาลจีนต้องออกโรง ทั้งข่าวที่ว่า “หวัง เสี่ยวหง” รมว.ความมั่นคงสาธารณะแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ส่งข้อเรียกร้อง 6 ข้อถึง “รองนายกฯภูมิธรรม” เมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งจีนต้องการให้ไทยจับกุมตามข้อมูลของจีนที่ชี้เป้าแหล่งแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในไทยและเมียนมา รวมถึงไทยต้องปิดกั้นสาธารณูปโภคที่ใช้ไทยเป็นเส้นทางไปยังเมืองเมียวดีในเมียนมา อีกทั้งต้องจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการร่วมไทย-จีน

ตามด้วยการส่ง “หลิว จงอี้” ผู้ช่วยรมว.ความมั่นคงสาธารณะ มาเยือนไทย หอบเอกสารหลักฐานและรายชื่อผู้เกี่ยวข้องในขบวนการข้ามชาติ ส่งให้หน่วยงานด้านความมั่นคงของไทย พร้อมทั้งลงพื้นที่สำรวจชายแดนไทย ลาว และเมียนมา ถือเป็นมาตรการเชิงรุกและกดดันอย่างจริงจังจากรัฐบาลจีน

ส่วนในประเทศไทย พรรคร่วมฝ่ายค้านหยิบเรื่องนี้มาขย่มรัฐบาลไม่หยุด และเตรียมจะใช้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลด้วย ร้อนถึงนายกรัฐมนตรี “แพทองธาร ชินวัตร” ที่ต้องสั่งให้“รองนายกฯภูมิธรรม” เรียกประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติชุดใหญ่ เมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา สรุปข้อมูลชี้เป้า พร้อมสั่งระงับการส่งน้ำมัน สัญญาณอินเตอร์เน็ต และสับคัตเอาท์ตัดไฟ 5 พื้นที่ คือ 1.บ้านเจดีย์สามองค์เมืองพญาตองชู รัฐมอญ 2.บ้านเหมืองแดง เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน 3.สะพานมิตรภาพไทยเมียนมาเมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน 4.สะพานมิตรภาพไทยเมียนมา แห่งที่ 2 – .เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง 5.บ้านห้วยม่วง .เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง

นี่คงเป็นยกแรกที่รัฐบาลพยายามแสดงความเอาจริงเอาจังกับการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ ดับไฟ ลดแรงเสียดทานจากกระแสวิจารณ์โจมตีและการกดดันรอบด้านที่กำลังถาโถมใส่รัฐบาล

แต่ยังมีการบ้านอีกหลายข้อที่รัฐบาลต้องจัดการอีกหลายชั้นเพื่อเร่งกวาดล้างอาชญากรเหล่านี้ให้หมดสิ้น.