สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่าย 50 องค์กร เปิดงาน Safer Internet Day Thailand 2025 (SIDTH 2025) ภายใต้แนวคิด “Together for a Safer Internet” ชวนทุกภาคส่วน มาร่วมกัน สร้างสภาพแวดล้อมออนไลน์ที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน เนื่องในวันอินเทอร์เน็ตปลอดภัยแห่งชาติ ปี 2568

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ข้อมูลจาก We Are Social ดิจิทัลเอเจนซีระดับโลก ระบุว่า คนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ตมากกว่า 63 ล้านคน คิดเป็น 88% เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ในรอบ 10 ปี สะท้อนให้เห็นว่าสื่อออนไลน์ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของคนทุกช่วงวัย และเป็นโอกาสทองของมิจฉาชีพ ที่สามารถเข้าถึงตัวได้ทุกที่ทุกเวลา โดยมีมือถือเป็นจุดเชื่อมต่อในการเข้าถึงอินเทอร์ แต่ในทางกลับกันอินเทอร์เน็ตก็ให้โทษได้เช่นกัน เกิน 50% ของคนไทยถูกหลอกลวงทางออนไลน์ โดยเฉพาะเด็ก เยาวชนและผู้สูงอายุ ดังนั้นการทำให้ทุกคนรู้เท่าทันในการที่จะปกป้องตัวเอง สร้างเกราะป้องกันในการรู้เท่าทันการหลอกลวงทางออนไลน์

ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กล่าวว่า ปัญหาการล่อลวงและค้าสื่อลามกอนาจารเด็กมีความรุนแรงมากขึ้น เหยื่อเด็กมีอายุน้อยลง และจำนวนคดีก็เพิ่มมากขึ้นถึงขั้นที่เจ้าหน้าที่ทำงานไม่ทัน การผลักดันกฎหมายเชิงป้องกันและการจัดการ จับคนร้ายที่มีพฤติกรรมเข้าหาเด็กเพื่อละเมิดทางเพศ จึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับนานาประเทศ ซึ่งงาน SIDTH 2025 ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ทุกภาคส่วนจะมาร่วมกันเสริมสร้างสภาพแวดล้อมออนไลน์ที่ปลอดภัย พร้อมผลักดันและนำข้อเสนอเชิงนโยบายเสนอต่อรัฐบาล ในเรื่องกฎหมาย เรื่องการกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัล เรื่องการรับมืออาชญากรรมทางไซเบอร์ หรือเทคโนโลยีใหม่ๆอย่าง AI ที่ถูกนำมาใช้แสวงหาประโยชน์ ทั้งการล่อลวง ก่ออาญชกรรม ในรูปแบบของสแกมเมอร์ แก๊ง Call Center ที่ผ่านมาตัวเลขของการตกเป็นเหยื่อเพิ่มขึ้น นั่นหมายถึงทุกคนใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้น แต่เรื่องการให้ความรู้ สร้างความตระหนัก เรื่องการป้องกันยังไม่เท่าทันมิจฉาชีพที่ตั้งใจมามาหลอกด้วย 3 เทคนิค คือ หลอกให้รัก ทักให้โลภ ขู่ให้กลัว ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ คือ ต้องการรวย ต้องการคนรัก ขู่ให้กลัว จึงอาจตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้ง่าย

การส่งเสริมอินเทอร์เน็ตปลอดภัยสำหรับทุกคน ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญและร่วมกันทำงานสื่อสารให้ประชาชนมีองค์ความรู้รับมือภัยออนไลน์ทุกรูปแบบ และมีขีดความสามารถ ในการใช้สื่อออนไลน์แบบ 3S คือ SAFE รู้จักปกป้องตนเองจากภัยออนไลน์รูปแบบต่างๆ SMART ฉลาดใช้งานในทางสร้างสรรค์ เกิดประโยชน์ สร้างงาน สร้างอาชีพ และนวัตกรรมใหม่ๆ STRONG มีความเข้มแข็งรับมือกับปัญหา ฟื้นฟูเยียวยาได้ มีภูมิคุ้มกัน เพราะข้อมูลของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ 1441 (AOC) มีประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวงจำนวน 1,375,908 สาย (เฉลี่ย 3,149 สายต่อวัน) ขณะเดียวกันสถานการณ์การคุกคามทางเพศเด็กและเยาวชนบนออนไลน์ยังน่ากังวล ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยสถิติคดีเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศเด็กทางอินเทอร์เน็ตได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดตั้งแต่ปี 2565 โดยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค. 2567 มี 346 คดี ในจำนวนนี้เด็กอายุ 8-14 ปี ตกเป็นผู้เสียหายมากสุด 125 คน