สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงเคียฟ ประเทศยูเครน เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ว่า ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน กล่าวถึงการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ มีแผนพบหารือกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ว่าการหารือใดก็ตามหากเกี่ยวข้องกับยูเครน แต่หากไม่มียูเครนร่วมด้วย ยูเครนไม่มีทางยอมรับเงื่อนไขของข้อตกลงเหล่านั้น


ขณะที่นายบอริส พิสทอริอุส รมว.กลาโหมเยอรมนี กล่าวว่า รัฐบาลเบอร์ลิน “เสียใจและผิดหวัง” กับการที่รัฐบาลวอชิงตัน “เป็นฝ่ายอ่อนข้อ” ให้แก่รัสเซีย ด้านนายจอห์น ฮีลีย์ รมว.กลาโหมสหราชอาณาจักร กล่าวว่า ยูเครน “ต้องเป็นศูนย์กลาง” ของการเจรจาที่เกี่ยวข้องกับยูเครน


ส่วนนางคาจา คัลลัส หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) กล่าวว่า สหรัฐกำลัง “เอาอกเอาใจ” รัสเซีย และยุโรปไม่ควรยอมรับการเจรจาที่เป็นการให้รัฐบาลมอสโกอยู่ในสถานะที่เหนือกว่า


อีกด้านหนึ่ง นายพีต เฮกเซธ รมว.กลาโหมสหรัฐ กล่าวระหว่างเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ว่า รัฐบาลวอชิงตันของทรัมป์ มีจุดยืนที่ชัดเจนมาตั้งแต่ต้น ว่าสงครามในยูเครนต้องยุติ


อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลเคียฟกำหนดเป้าหมายว่า “ต้องการกลับไปมีพรมแดนเหมือนปี 2557” นั้น “เป็นเพียงภาพลวงตา” และการยังคงดึงดันในเรื่องนี้ มีแต่จะยิ่งทำให้สงครามยืดเยื้อมากยิ่งขึ้นเท่านั้น แม้ “หลักประกันด้านความมั่นคง” เป็นสิ่งที่ยูเครน “ควรมี” แต่การจะเป็นสมาชิกนาโตนั้น “เป็นไปไม่ได้” และสหรัฐจะไม่มีทางส่งทหารเข้าไปประจำการในยูเครน เพราะความมั่นคงของยูเครนต้องได้รับประกันจาก “ทหารยุโรป”

นอกจากนี้ รมว.กลาโหมสหรัฐ เน้นย้ำแนวทางของทรัมป์ ซึ่งต้องการให้สมาชิกนาโตทุกประเทศเพิ่มสัดส่วนการใช้จ่ายกลาโหม ให้เพิ่มจาก 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เป็น 5% ของจีดีพี ซึ่งในเรื่องดังกล่าว นายมาร์ค รึตเตอ เลขาธิการนาโต กล่าวว่า มีการขยายเป้าหมายในเบื้องต้น “เป็นมากกว่า 3%”.

เครดิตภาพ : AFP