ตามรายชื่อประกอบด้วย พันเอก ซอ ชิต ตู่ หรือ หม่อง ชิต ตู 2.พันโท โมเต โธน และ 3.พันตรี ทิน วิน ในความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 7(2) อุปการะโดยให้ทรัพย์สิน จัดหาที่ประชุมหรือที่พำนักให้แก่ผู้กระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ หลังรวบรวมพยานหลักฐานและพฤติการณ์พบเกี่ยวข้องเชื่อมโยงขบวนการจัดหาชาวต่างชาติบังคับใช้แรงงานเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในพื้นที่ จ.เมียวดี ประเทศเมียนมา โดยใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน ซึ่งต่อมาอัยการติด “เบรก” แนะให้สอบพยานหลักฐานให้รัดกุมก่อน
“ทีมข่าวอาชญากรรม” ไขคำตอบที่มาการขอหมายจับ พบว่าต้องย้อนข้อมูลเริ่มต้นจากการที่ดีเอสไอเข้าไปให้ความช่วยเหลือเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์และการค้ามนุษย์ ใน คดีพิเศษที่ 304/2565 ซึ่งเป็นชาวอินเดีย รวม 8 ราย ซึ่งถูกหลอกให้ไปทำงานลักษณะเทเลมาร์เก็ตติ้ง (Telemarketing) ในพื้นที่ จ.เมียวดี ของเมียนมา โดยใช้พื้นที่ชายแดนไทยเป็นทางผ่าน โดยสถานการณ์ขณะนั้นเริ่มมีรายงานต่างชาติหลายสัญชาติ ถูกหลอกบังคับทำงานเป็นสแกมเมอร์
หลังการช่วยเหลือและนำตัวเข้าสู่กระบวนการคัดกรอง พบว่าเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ดีเอสไอจึงเริ่มสอบสวนตามหาผู้เกี่ยวข้องมาดำเนินคดี
ตามพฤติการณ์แห่งคดีพบว่าเกิดขึ้นช่วง วันที่ 15 พ.ค.-13 ส.ค.65 มีเหยื่อเป็นชาวอินเดีย คือ นายจาเวิด (สงวนนามสกุล) กับพวก รวม 8 ราย ได้รับการชักชวนจาก นางซาร่า (สงวนนามสกุล) ชาวปากีสถาน ซึ่งเป็นนายหน้า และมี นายเอ็ดเวิร์ด (สงวนนามสกุล) เป็นนายจ้าง ให้ไปทำงานเกี่ยวกับระบบไอที และเทเลมาร์เก็ตติ้งที่ประเทศไทย จึงตัดสินใจเดินทางผ่านสนามบินสุวรรณภูมิ
ต่อมาโดยสารเครื่องบินจากสนามบินดอนเมือง ไปยังพื้นที่ชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก ก่อนมีรถยนต์ของบริษัทแห่งหนึ่งมารับและพาข้ามแม่น้ำเมย นำตัวไปยังเฮ็งเซ็ง รีสอร์ท แอนด์ กาสิโน เมืองเมียวดี เมื่อรู้ว่าต้องมาทำงานหลอกลวงก็ไม่ได้ยินยอม จึงถูกบังคับและทำร้ายร่างกายช็อตด้วยไฟฟ้า และถูกขัง กระทั่งทั้ง 8 ราย ต้องให้ญาติโอนเงินไถ่ตัว เป็นเงินกว่า 4,000-5,000 ดอลลาร์ จึงถูกปล่อยตัวกลับ โดยเดินเท้าข้ามทุ่งข้าวโพดมายัง อ.แม่สอด และได้รับการช่วยเหลือจากดีเอสไอ
อย่างไรก็ตาม จากการสอบสวนพบ นายเอ็ดเวิร์ด และ นายเซียง เต๋อ (สงวนนามสกุล) สัญชาติจีน ร่วมกันบังคับเหยื่อให้ทำงาน โดยมี นายมาร์ติน คิว วาย จาง ถือสัญชาติหมู่เกาะมาแชลล์ หรือ คิว หยุน จาง สัญชาติจีน เจ้าของเฮ็งเซ็ง รีสอร์ทฯ ร่วมกับชาวไทยที่เป็นเจ้าของบริษัทแห่งหนึ่ง เป็นผู้ไปรับตัวเหยื่อ
นอกจากนี้ ยังพบว่ากองพลน้อยที่ 4 กองกำลังรักษาชายแดน เมืองเมียวดี เมียนมา เป็นผู้ให้เช่าพื้นที่ปรากฏตามสัญญาเช่าฉบับลงวันที่ 22 มิ.ย.60 ซึ่งมีพลเอก ซอ ชิต ตู่ เป็นผู้นำสูงสุด (BGF) จึงนำไปสู่การพิจารณาขอออกหมายจับในคดีค้ามนุษย์
จากการสอบสวนต่อเนื่องตลอด 2 ปีของดีเอสไอ ทำให้พบผู้อยู่เบื้องหลังขบวนการบังคับค้ามนุษย์ชาวอินเดียทั้ง 8 ราย ซึ่งมาจากการตรวจสอบเส้นทางการเงิน แสวงหาพยานหลักฐาน สอบสวนพยานบุคคล เพื่อเชื่อมโยงหลายกลุ่มคนซึ่งแบ่งบทบาทกันหลายส่วนทั้งกลุ่มนายหน้า กลุ่มบังคับให้ทำงาน กลุ่มสนับสนุนช่วยเหลือ กลุ่มค้ามนุษย์โดยตรง เป็นต้น
เมื่อเห็นเส้นทางการเดินทาง การเคลื่อนย้ายคน การขนลำเลียงคน การให้ที่พักพิงก่อนส่งข้ามแดน จึงสามารถเชื่อมโยงได้ว่าพฤติการณ์นั้นไปเกี่ยวข้องกับบุคคลใดบ้าง เช่น กลุ่มค้ามนุษย์โดยตรง หรือกลุ่มนายหน้าจะเป็นบอสชาวจีน ประมาณ 2 ราย ขณะที่นายพลกองกำลัง BGF จะเป็นกลุ่มสนับสนุน และยังมีคนไทยอีก 4 ราย ร่วมกับบอสชาวจีน
เฉพาะเส้นทางการเงิน ดีเอสไอพบมีกลุ่มบริษัทที่อยู่ในไทยได้ร่วมกับชาวจีน ซึ่งเป็นเจ้าของกาสิโนในเฮ็งเซ็งนำคนไปค้ามนุษย์ ทั้งนี้ ยังพบว่า 3 นายพล มีส่วนสนับสนุนแก๊งคอลเซ็นเตอร์และอาชญากรรมผิดกฎหมาย โดยเป็นผู้ดูแล เป็นเจ้าของพื้นที่ ยินยอมและรู้เห็นเป็นใจ รวมถึงให้ความคุ้มครอง ซึ่งการสอบสวนดังกล่าวมีพนักงานอัยการร่วมด้วยมาตลอด
อย่างไรก็ตาม หลังมีข้อแนะนำให้ดีเอสไอหาพยานหลักฐานเพิ่ม เบื้องต้นได้ดำเนินการเป็นที่เรียบร้อย โดยมีการประสานข้อมูลจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในประเด็นโครงสร้างกองกำลัง BGF และบทบาทการเป็นผู้ทำสัญญาให้เช่าตึกก่ออาชญากรรม ตลอดจนการสอบปากคำหน่วยข่าวของดีเอสไอ เพื่อนำข้อมูลไปพิจารณา หากอัยการและดีเอสไอมีข้อสรุปร่วมกันได้ จึงจะนำไปสู่ขั้นตอนยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อออกหมายจับต่อไป และเนื่องจากเป็นคดีความผิดนอกราชอาณาจักร จึงจำเป็นที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากพนักงานอัยการด้วย.
ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน