สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงเคียฟ ประเทศยูเครน เมื่อวันที่ 17 ก.พ. ว่า ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน กล่าวในรายการ “มีต เดอะ เพรส” ทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีซีของสหรัฐ ว่าในประเด็นเกี่ยวกับ “การบริหารจัดการ” แร่ธาตุหายาก รัฐบาลเคียฟจำเป็นต้องหารือกับสหรัฐ ว่าจะดำเนินการอย่างไร กับแร่ธาตุหายากอีกมหาศาล ที่อยู่ในพื้นที่ยึดครองของรัสเซีย ว่าจะตกเป็นของรัฐบาลมอสโกและพันธมิตร ที่รวมถึงจีน อิหร่าน และเกาหลีเหนือ หรือไม่


เกี่ยวกับข้อตกลงในเรื่องนี้กับสหรัฐ ผู้นำยูเครนกล่าวว่า “หากไม่ได้รับหลักประกันด้านความมั่นคงจากสหรัฐ” โดยส่วนตัวเขาไม่คิดว่า ข้อตกลงทางเศรษฐกิจ “จะมีประโยชน์” การทำข้อตกลงใดก็ตาม “ต้องเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย”


เซเลนสกีกล่าวว่า ยูเครนเป็นประเทศที่มีไทเทเนียมปริมาณมาก เพียงพอสำหรับการทำอุตสาหกรรมที่อาจนานถึง 40 ปี ขณะที่สหรัฐยังคงต้องนำเข้าไทเทเนียมจากจีนและรัสเซีย ดังนั้น ขอให้ยูเครนเป็นผู้ดูแลทรัพยากรเหล่านี้เอง แล้วอเมริกาจะไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินให้กับจีนและรัสเซีย เพื่อนำเข้าไทเทเนียมอีกต่อไป


ขณะที่นายไบรอัน ฮิวจ์ส โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ วิจารณ์เซเลนสกี “ไม่มีวิสัยทัศน์” จึงไม่ยอมรับข้อเสนอ “ลงทุนร่วม” จากอเมริกา ซึ่งจะเป็นการช่วยให้ชาวอเมริกันได้รับสิ่งที่จ่ายไปกลับคืนมา และในเวลาเดียวกัน ยังเป็น “การสร้างประโยชน์” ให้กับเศรษฐกิจของยูเครนด้วย


สอดคล้องกับที่นายไมค์ วอลซ์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว ซึ่งกล่าวว่า ชาวอเมริกัน “ต้องได้รับการชดใช้” จากการมอบความสนับสนุนให้แก่ยูเครน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

ทั้งนี้ สื่อท้องถิ่นหลายแห่งของสหรัฐรายงานว่า เนื้อหาสำคัญของข้อตกลง คือการที่อเมริกาต้องการส่วนแบ่งแร่ธาตุหายากทั้งหมด 50% และจะส่งทหารเข้าไปดูแลแหล่งแร่เหล่านั้น เมื่อยูเครนลงนามในข้อตกลงกับรัสเซีย.

เครดิตภาพ : AFP