เมื่อเวลา 09.45 น. วันที่ 19 ก.พ. ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “เชื่อมั่นประเทศไทย” ในงานสัมมนา Matichon Leadership Forum 2025 Trust Thailand : เชื่อมั่นประเทศไทย ที่สำนักพิมพ์มติชนจัดขึ้น เมื่อมาถึง นายกฯ ได้เยี่ยมชมบูธจำหน่ายหนังสือของมติชน พร้อมอุดหนุนหนังสือประชุมลับกับธงทอง ของนายธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี และหนังสือนิทานการเงิน โดยนายกฯ กล่าวปาฐกถาพิเศษตอนหนึ่ง ว่า เป็นโอกาสอันดีที่ได้มาเล่าให้ประชาชนฟังว่า เรากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง ประเทศของเราผ่านอะไรมาบ้าง และเจออะไรมาบ้าง ต่างประเทศมองเราอย่างไร และเรามีแผนอะไรต่อไปในอนาคต ตลอดปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เผชิญกับปัญหาและความท้าทายต่างๆ มากมาย เศรษฐกิจยังไม่มีเงินในระบบ ยังฝืดเคือง แต่มีสัญญาณที่ดีมาในปลายปีที่แล้ว เรามีเศรษฐกิจ มีตัวเลขจีดีพีปี 2567 ขยายตัวขึ้น 2.5% มากกว่าเป้าที่วางไว้ที่ 2% จากปี 2566 การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเกิดผล การบริโภคภายในขยายตัว ตัวเลขนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจากมาตรการฟรีวีซ่า และความเชื่อมั่นในการดูแลนักท่องเที่ยว และในปี 2568 รัฐบาลตั้งเป้าหมายให้จีดีพีเติบโตขึ้นที่ 3% โดยที่แรงขับเคลื่อนที่สำคัญของการลงทุนของภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น 

นายกฯ กล่าวต่อว่า แต่การนำตัวเลขเศรษฐกิจไทยเทียบกับประเทศต่างๆ ในอาเซียน ว่ามีตัวเลขที่ต่ำที่สุด มองว่ายังดูปัจจัยไม่ครบทั้งภายในภายนอก เช่น ประเทศเพื่อนบ้านมีการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง แต่ของไทยไม่ได้มีการพัฒนามาหลายปี สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจหลายอย่างไม่เพียงพอ ธนาคารยังปล่อยกู้ไม่มากพอ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยง ส่งผลให้เกิดการฝืดด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มเอ ที่ถือเป็น 75% ของประเทศ หากกลุ่มนี้ยังไม่มีสินเชื่อมาพัฒนาเศรษฐกิจของเขา ก็จะยังไม่มีการพัฒนาและขยายตัว ก็ต้องขอความช่วยเหลือช่วยกันทุกภาค

นายกฯ กล่าวอีกว่า งบประมาณของรัฐยังไม่เพียงพอ และจะถูกใช้ไปกับรายจ่ายประจำ ตนบอกทุกคนว่าให้รัดเข็มขัด ในเรื่องของงบประมาณ แต่เราต้องทำเรื่องการลงทุนควบคู่ไปด้วย ทำให้เม็ดเงินต่างๆ เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เป็นสิ่งที่ต้องจัดการให้ดี ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาในอนาคต และวันนี้เพดานกู้แทบไม่เหลือ รัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหารประเทศเจอปัญหาเหล่านี้ แต่พยายามหาทางออกในมุมต่างๆ ยังไม่ได้ทำการตลาดจุดแข็งของประเทศ เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ พอการลงทุนจากต่างชาติหรือเม็ดเงินจากต่างประเทศไม่เข้า การขยับเป็นไปได้ยากมากยิ่งขึ้น ปัญหาเหล่านี้ต้องใช้เวลา ตั้งแต่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ ก็พยายามดึงเม็ดเงินจากต่างประเทศเข้ามา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เสนอการทำตลาดดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติทำให้ยอดการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นถึง 35% หรือประมาณ 1.14 ล้านๆ บาท คิดเป็น 5% ของจีดีพี เป็นสิ่งที่ขยับและเห็นผล โดยจะเร่งให้เม็ดเงินเหล่านี้เข้าสู่ระบบ รวมถึงมีมาตรการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อเพื่อเอสเอ็มอี การดึงอุตสาหกรรมใหม่เข้าประเทศ การสร้างสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ ดึงดูดนักท่องเที่ยว 

นายกฯ กล่าวด้วยว่า มาตรการเร่งด่วน รัฐบาลได้พูดคุยและอยากจะขอความร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ที่มีกำไร เข้ามาช่วยเสริมสภาพคล่องด้วยการปล่อยกู้ให้กับคนไทยให้มีสภาพคล่องให้การพัฒนาธุรกิจของตัวเอง และอีกเรื่องคือขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณาลดดอกเบี้ย เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน ซึ่งเรื่องนี้สามารถทำได้ เพราะเงินเฟ้อยังน้อยอยู่

นายกฯ กล่าวอีกว่า รัฐบาลมีมาตรการแก้ปัญหาหนี้สินต่างๆ ออกมา เช่น หนี้สินครัวเรือนรัฐบาล ได้ทำโครงการ “คุณสู้เราช่วย” มุ่งช่วยเหลือหนี้สินเชื่อบ้าน รถยนต์ และธุรกิจเอสเอ็มอี ตัวเลขสำหรับการแก้หนี้ครัวเรือนและผู้ประกอบการรายย่อยตั้งแต่รัฐบาลนายเศรษฐา มีการยกหนี้รายย่อยไปแล้วกว่า 8.3 แสนบัญชี ทำให้ลูกหนี้กลุ่มนี้หลุดออกจากการติดเครดิตบูโร สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนอีกครั้ง ตนก็สานต่อเรื่องนี้ มีกลุ่มลูกหนี้ค้างอยู่ 2.6 แสนบัญชี จะทำให้จบในวันที่ 15 มี.ค. นี้ และยังขอให้กระทรวงการคลัง หารือกับ ธปท. พัฒนาโครงการคุณสู้เราช่วย ให้ครอบคลุมถึงกลุ่มลูกหนี้ เพื่อให้เข้าถึงแหล่งทุน ซึ่งมาตรการน่าจะออกมาปลายเดือน มี.ค. นี้