มุกยอดฮิตคือ การสวมเครื่องแบบราชการ อ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ “ป้ายสี” ต้องโทษอาญาให้หวาดกลัว ก่อนร่ายมนตร์ “ปั่นหัว” จากแผนประทุษกรรมเชื่อว่าสิ่งที่หลายคนสงสัยหลัก ๆ ปัจจุบันใครเป็นกลุ่มเสี่ยง และทำไมต้อง “คอสเพลย์” สวมเครื่องแบบเป็นตำรวจ

“ทีมข่าวอาชญากรรม” ชวนไขคำตอบกับ ร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงษ์มณี ผอ.กองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งสะท้อนภาพ “เหยื่อโอชะ” แก๊งคอลเซ็นเตอร์ว่ามี 4 กลุ่ม ได้แก่

“กลุ่มรัก” มักตกอยู่ในวังวนแผนประทุษกรรมโรแมนซ์สแกม คือ ถูกหลอกให้หลงรัก หลอกว่ามีใจ ทำทีท่าว่ามาจีบ

“กลุ่มโลภ” ถูกหลอกให้กดไลก์ กดแชร์ คำโฆษณาชวนเชื่อ ทำงานสบาย รายได้ดี

“กลุ่มกลัว” มักถูกทำให้หวาดกลัว โดยคนร้ายอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หลอกว่าเหยื่อมีส่วนพัวพันสิ่งผิดกฎหมาย

“กลุ่มไม่รู้” ถูกหลอกให้กดลิงก์ ติดตั้งบริการต่างๆ เช่น เรื่องติดตั้งไฟฟ้า หรือหลอกจองห้องพัก

จากคดีที่เกิดขึ้นจริง ดีเอสไอนำพฤติการณ์เหล่านี้ส่งต่อ เพื่อประโยชน์ทางวิชาการ ออกมาเป็นผลวิจัยที่น่าสนใจ ยกตัวอย่าง รายงานของศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ หัวข้อ “สถานการณ์การถูกหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์” จากตัวอย่างประชาชนอายุ 15-79 ปี พบสารพัดพฤติกรรมเสี่ยงจากการใช้อินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์มือถือ เช่น

การรับสายเบอร์แปลก/เบอร์ที่ไม่ได้บันทึกไว้, การรับคนแปลกหน้าเป็นเพื่อนบนสื่อโซเชียลมีเดีย, การซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านร้าน หรือช่องทางที่ไม่เป็นทางการ หรือไม่มีหน้าร้าน

การผูกบัตรเครดิต/บัตรเดบิต/บัตรกดเงินกับร้านค้า/แอปพลิเคชันซื้อขาย/ระบบตัดเงินอัตโนมัติ, การคลิกลิงก์ที่ส่งมาในอีเมล/ข้อความในโซเชียลมีเดีย/SMS/หรือบนเว็บไซต์โดยไม่ตรวจสอบความน่าเชื่อถือ

การบันทึกยูสเซอร์เนม และพาสเวิร์ดที่ไม่ใช่เครื่องส่วนตัว, การแชร์หรือส่งต่อข้อมูลโดยไม่ตรวจสอบที่มา หรือความถูกต้อง, การเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวกับผู้ที่เจอบนโลกออนไลน์แม้ไม่สนิท ไม่เคยพบตัวจริง เป็นต้น

สำหรับค่าเฉลี่ยความเสี่ยงเหล่านี้ พบเกิดมากสุดในกลุ่มวัยทำงาน อายุระหว่าง 28-45 ปี ซึ่งมีมากถึงร้อยละ 96

ส่วนข้อสงสัย ทำไมต้องแต่งเครื่องแบบตำรวจ ร.ต.อ.เขมชาติ มองเป็นเรื่องของวัฒนธรรมการกลัวเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะจากที่เคยพูดคุยกับเจ้าหน้าที่จากต่างประเทศ พบข้อสังเกตวัฒนธรรมคนไทยและประเทศแถบอาเซียนยังมีความเกรงกลัวต่อเจ้าหน้าที่ ต่างกับในต่างประเทศที่อยู่ในแถบยุโรปหรืออเมริกาที่กล้าเดินเข้าไปหาไปสอบถามกับเจ้าหน้าที่โดยตรง

“วัฒนธรรมคนไทยและคนชาติอาเซียน หากมีใครมาแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐและประสานติดต่อมาจึงทำให้ผู้เสียหายเกิดความกังวลว่าน่าจะมีเรื่องอะไรบางอย่างเกิดขึ้นหรือไม่”

อีกข้อเป็นเรื่องความเชื่อมั่นในระบบความเชื่อมั่นในระบบคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพราะทุกครั้งที่คนร้ายอ้างข้อมูลส่วนบุคคล เหยื่อมักเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง เพราะคิดว่าข้อมูลส่วนบุคคลของตนอาจไม่ได้รับการคุ้มครองหรือไม่

ทั้งนี้ วิเคราะห์คดีอาชญากรรมผ่านสิ่งที่เรียกว่า “สามเหลี่ยมอาชญากรรม” ที่มีองค์ประกอบ 3 ประการ คือ เหยื่อ อาชญากร และโอกาส เมื่อทุกคดีสังเกตว่าเหยื่อมักมีความเปราะบาง ประกอบกับความเก่งของอาชญากร และโอกาสที่เอื้อให้ก่อเหตุ ทำให้เกิดความเสียหาย ดังนั้น ในทางกลับกันหากอาชญากรเก่งกาจ แต่เหยื่อไม่เปิดโอกาสให้เข้าถึง หรือรู้เท่าทันก็ถือว่าปิดประตูตาย

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมิจฉาชีพมักแอบอ้างชื่อแพลตฟอร์มออนไลน์ดัง ส่ง SMS พร้อมแนบลิงก์ให้ผู้ใช้ กดเข้าไปกรอกข้อมูลส่วนบุคคล และนำพาสู่การติดตั้งแอปพลิเคชันภายนอก จนสามารถดูดเงินออกจากบัญชีไปได้ ในจุดนี้ชี้ว่าต้องท่องให้ขึ้นใจว่าอย่ากด อย่ากรอก หรืออย่าติดตั้งเด็ดขาด

นอกจากนี้ อีกจุดที่ต้องระมัดระวังมากขึ้นหลังจากนี้การใช้ระบบ เอไอ (AI) ที่พัฒนาไปมาก และถูกนำมาใช้ในการปลอมแปลงเสียง หรือใบหน้า เพื่อนำไปใช้แอบอ้างหลอกคนใกล้ตัว พร้อมแนะหลีกเลี่ยงการสนทนากับมิจฉาชีพ แม้อยากจะปั่นหัว หรือโต้ตอบกลับบ้างก็ตาม

“อย่าลืมว่ามิจฉาชีพอาจแอบบันทึกน้ำเสียงของเรา แล้วดัดแปลงส่งไปหลอกคนใกล้ตัว และอย่าเปิดกล้องวิดีโอคอลสนทนา เพราะคนร้ายก็อาจบันทึกภาพใบหน้าไปตัดต่อเป็นเอไอใช้หลอกเหยื่อคนอื่นได้เช่นกัน”

ร.ต.อ.เขมชาติ ระบุ สาเหตุการไปตั้งฐานอยู่ประเทศเพื่อนบ้านตามตะเข็บชายแดนว่า มาจากที่คนเหล่านี้รู้ว่ามีช่องว่างทางกฎหมาย อยู่อย่างไรจะไม่ถูกจับกุม ความสะดวกในการเดินทาง การลำเลียงผู้คนข้ามแม่น้ำ ต้นทุนการจัดตั้งของบริษัท ค่าเช่าตึกอาคาร ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต สิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบที่องค์กรอาชญากรรมพยายามมองหาให้คุ้มการลงทุน

พร้อมทิ้งท้ายจุดล่มสลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หรือสแกมเมอร์ อาจไม่ได้อาศัยเพียงอำนาจเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย แต่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือและมองภาพเดียวกันคือ สามเหลี่ยมอาชญากรรม ที่ไม่ใช่แค่เหยื่อ ไม่ใช่แค่อาชญากร ไม่ใช่แค่โอกาส แต่อาศัยปัจจัยร่วมกัน.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน