“ความดันโลหิตสูง” เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่นำไปสู่ “โรคหัวใจ”, “โรคหลอดเลือดสมอง”, “โรคไตเรื้อรัง” และ “ภาวะสมองเสื่อม” เมื่อเร็วๆ นี้ ผลการวิเคราะห์ของมหาวิทยาลัยแพทย์แผนจีนฝูเจี้ยน เผยว่า การนอนหลับตอนกลางคืนน้อยกว่า 7 ชั่วโมง เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิด “ความดันโลหิตสูง” อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในผู้หญิง และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปี

นักวิจัยได้ทำการทบทวนอย่างเป็นระบบ และวิเคราะห์ข้อมูลจากงานวิจัยเชิงคาดการณ์ 23 ชิ้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้ใหญ่ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปกว่า 170,000 คน โดยมีผู้ป่วยความดันโลหิตสูง 41,528 คนในช่วงเวลาการศึกษา

ระยะเวลาการนอนหลับตอนกลางคืนแบ่งออกเป็น
ผู้ที่นอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมง
ผู้ที่นอนน้อยระหว่าง 6-7 ชั่วโมง
ผู้ที่นอนน้อยกว่า 7 ชั่วโมง
ผู้ที่นอน 8 ชั่วโมงหรือมากกว่า

โดยใช้ระยะเวลาการนอนหลับ 7-8 ชั่วโมงเป็นกลุ่มควบคุม เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างระยะเวลาการนอนหลับ ที่แตกต่างกันกับความเสี่ยงต่อความดันโลหิตสูง

ผลการวิจัยพบว่า…

ระยะเวลาการนอนหลับที่มากกว่า 8 ชั่วโมง ไม่มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับความเสี่ยงต่อความดันโลหิตสูง

ระยะเวลาการนอนหลับที่น้อยกว่า 7 ชั่วโมง มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงต่อความดันโลหิตสูง

ผู้ที่นอนหลับ 6-7 ชั่วโมง มีความเสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น 4%

ผู้ที่นอนหลับน้อยกว่า 6 ชั่วโมง มีความเสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น 17%

การวิเคราะห์กลุ่มย่อยเพิ่มเติมพบว่า “เพศและอายุ” มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ต่อความสัมพันธ์ระหว่างระยะเวลาการนอนหลับ กับความเสี่ยงต่อความดันโลหิตสูง

ผู้ชาย – ระยะเวลาการนอนหลับต่างๆ ไม่มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญ กับความเสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตสูง
ผู้หญิง – ระยะเวลาการนอนหลับ 6-7 ชั่วโมง และน้อยกว่า 6 ชั่วโมง มีความเสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น 7% และ 12% ตามลำดับ
ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปี – ระยะเวลาการนอนหลับ 6-7 ชั่วโมง และน้อยกว่า 6 ชั่วโมง มีความเสี่ยงต่อความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น 5% และ 24% ตามลำดับ
ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป – ความสัมพันธ์นี้ไม่ชัดเจน

เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยด้านอายุและเพศร่วมกัน ผู้หญิงที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปี หากมีระยะเวลาการนอนหลับน้อยกว่า 6 ชั่วโมง จะมีความเสี่ยงต่อความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น 13%

นักวิจัยวิเคราะห์ว่า การนอนหลับไม่เพียงพอจะรบกวนการทำงานของแกนไฮโปทาลามัส-ต่อมใต้สมอง-รังไข่ในผู้หญิง ลดระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการควบคุมป้อนกลับเชิงลบของแกนไฮโปทาลามัส-ต่อมใต้สมอง-ต่อมหมวกไต นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของการหลั่งฮอร์โมนความเครียด เช่น คอร์ติซอล และทำให้เกิดความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ ผู้หญิงยังได้รับผลกระทบทางจิตใจ และร่างกายที่รุนแรงกว่า เมื่อนอนหลับไม่เพียงพอ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตสูงในผู้หญิง

สำหรับความสัมพันธ์ที่ไม่ชัดเจนระหว่างระยะเวลาการนอนหลับ กับความดันโลหิตสูงในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป นักวิจัยวิเคราะห์ว่าอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายประการ เช่น ปัญหาการนอนหลับที่เพิ่มขึ้น เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ การนอนไม่หลับ ระยะเวลาการนอนหลับที่ยืดหยุ่น และผลกระทบสะสมของการนอนหลับต่อสุขภาพ.

ที่มาและภาพ : sohu, freepik