ขณะที่คุณกำลังลิ้มรสอาหารจานโปรด เคยสงสัยไหมว่า เบื้องหลังความอร่อยนั้นมีอะไรมากกว่ารสชาติที่สัมผัสได้? หลายคนอาจมองว่าอาหารเป็นเพียงสิ่งที่ให้พลังงานและความเพลิดเพลินทางรสชาติ แต่แท้จริงแล้ว อาหารแต่ละจานล้วนมีเรื่องราวที่น่าสนใจซ่อนอยู่ ตั้งแต่ที่มาของวัตถุดิบ กระบวนการผลิต ไปจนถึงผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
ประกอบกับที่ปัจจุบัน ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น คำถามที่ว่า “อาหารของเรามาจากไหน และถูกผลิตขึ้นอย่างไร?” กลายเป็นสิ่งที่หลายคนให้ความสนใจมากขึ้น
Sustain Daily Team ชวนสำรวจแนวคิดและเบื้องหลังของอุตสาหกรรมอาหารที่ไม่ได้หยุดอยู่แค่เรื่องรสชาติ แต่ยังคำนึงถึงการใช้วัตถุดิบอย่างคุ้มค่า ลดของเสีย และบริหารทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านเรื่องราวแนวคิดและกระบวนการดำเนินงานของ ‘อายิโนะโมะโต๊ะ’ ธุรกิจด้านอาหารระดับโลกที่อยู่คู่ครัวคนไทยมาอย่างยาวนาน
จากการที่ ‘บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด’ พร้อมบริษัทในเครือ อย่าง ‘อายิโนะโมะโต๊ะ เอฟ ดี กรีน (ประเทศไทย) จำกัด’ ได้ประกาศแผนงานด้านความยั่งยืนประจำปี 2568 ด้วยแนวคิด ‘วัฏจักรอาหารยั่งยืน’ ที่ครอบคลุม 4 มิติหลัก ได้แก่ การจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การลดการใช้พลาสติก และการลดขยะอาหาร ทั้งยังตั้งเป้าหมายในการพัฒนาธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม พร้อมยกระดับโครงการ ‘Thai Farmer Better Life Partner’ เพื่อสนับสนุนเกษตรกรไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

‘สมิชฌน์ เพ็ชร์ดี’ ผู้จัดการฝ่ายส่งเสริมความยั่งยืน บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า หัวใจสำคัญของอายิโนะโมะโต๊ะคือ การสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจอาหาร โดยบริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านการนำองค์ความรู้ด้าน ‘AminoScience’ ซึ่งเป็นความเชี่ยวชาญหลักของบริษัทฯ มาสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านอาหาร ที่โดดเด่นด้วยรสชาติอร่อย มีโภชนาการที่ดี ควบคู่ไปกับการดำเนินงานที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยฟื้นฟูดูแลสิ่งแวดล้อม
สำหรับเป้าหมายหลักของอายิโนะโมะโต๊ะในปี 2568 จะมุ่งเน้นไปที่ ‘วัฏจักรอาหารยั่งยืน’ ซึ่งประกอบด้วย 4 มิติหลัก ได้แก่
1. จัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน: ตั้งเป้าหมายให้การจัดซื้อวัตถุดิบเป็นแบบหมุนเวียนและยั่งยืนให้ได้ 75% ภายในปี 2568 โดยเน้นการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มา รวมถึงรับซื้อเมล็ดกาแฟจากไร่ที่ได้รับมาตรฐาน ‘หลักปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP)’ จากกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อให้มั่นใจว่าวัตถุดิบมีคุณภาพและไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ
2. ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก: นำแนวคิด ‘Ajinomoto Bio-cycle’ มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างระบบการผลิตและการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยโรงงานทั้ง 7 แห่งของอายิโนะโมะโต๊ะเป็นโรงงานสีเขียวที่นำหลัก 3Rs (Reduce, Reuse, Recycle) มาใช้ในการบริหารจัดการที่คลอบคลุมตั้งแต่แง่ของการใช้พลังงานสะอาดภายในโรงงาน ตลอดจนผลิตภัณฑ์ที่พร้อมนำออกสู่ตลาด นอกจากนี้ ยังมีการตรวจสอบคาร์บอนฟุตพรินต์และทำงานร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อลดคาร์บอนให้ได้มากขึ้น
3. ลดพลาสติกในบรรจุภัณฑ์: ให้ความสำคัญกับการลดการใช้พลาสติกใหม่โดยหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้ พร้อมทั้งส่งเสริมแนวทางการรีไซเคิลอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อช่วยลดขยะพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
4. ลดขยะอาหาร: มีการนำวัตถุดิบที่เหลือจากการผลิต ‘รสดี’ และ ‘เบอร์ดี้’ ไปแปรรูปเป็นอาหารสัตว์หรือปุ๋ยแจกจ่ายให้แก่ชุมชน โดยที่ผ่านมา บริษัทสามารถลดขยะอาหารภายในโรงงานผลิตหลักได้ 100% และ โรงงานเบอร์ดี้ได้ถึง 82% ทั้งยังส่งเสริมให้ภาคครัวเรือนลดขยะอาหารผ่านโครงการ ‘Too Good To Waste กินหมดลดโลกร้อน’ ที่ร่วมมือกับร้านอาหารชื่อดัง เช่น ร้านเป็นลาว และร้านจิรกาล รณรงค์ให้ผู้บริโภคร่วมลดขยะอาหารผ่านสูตรอาหารรักษ์โลก เพื่อสร้างสรรค์เมนูอาหารที่ช่วยลดขยะและรักษาสิ่งแวดล้อม
ดูแลโลก ดูแลเกษตรกร

ด้าน ‘นพดล จิตรมั่น’ ผู้จัดการหน่วยงานผลิตและพัฒนา บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ เอฟ ดี กรีน (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ในส่วนของอายิโนะโมะโต๊ะ เอฟ ดี กรีนได้ดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ผ่าน 2 ส่วนหลักที่ขับเคลื่อนธุรกิจ โดยส่วนแรกคือ การเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์การเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้ที่ได้จากกระบวนการผลิตมาพัฒนาเป็นปุ๋ยชีวภาพทางการเกษตรและอาหารสัตว์
ส่วนที่สองคือ การสานต่อโครงการเพื่อเกษตรกรไทย อย่าง ‘Thai Farmer Better Life Partner’ ที่ดำเนินต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 5 โดยมีวัตุประสงค์ในการยกระดับผลผลิตและองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกร ซึ่งปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการมากถึง 1,300 ครัวเรือน
ตัวอย่างโครงการและกิจกรรมที่อายิโนะโมะโต๊ะ เอฟ ดี กรีน ได้ดำเนินการเพื่อดูแลโลก ดูแลเกษตรกร
- โครงการมันสำปะหลังสู่ความยั่งยืน ที่มุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรด้วย 5 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1. AFDG One-Stop Service ที่ให้บริการด้านเกษตรแบบครบวงจร ทั้งออนไซต์และออนไลน์, 2. ใช้ AI ในการพัฒนา supply chain เพื่อช่วยจับคู่ระหว่างโรงงานแป้งและเกษตรกร 3. ร่วมมือกับโรงงานแป้งเพื่อรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร, 4. พัฒนาผลิตภัณฑ์ปุ๋ยชีวภาพและสารกระตุ้นชีวภาพสำหรับพืช และ 5. จัดตั้ง Farm School ร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตรเพื่อให้ความรู้ด้านการเพาะปลูกที่ทันสมัยแก่เกษตรกร
- โครงการ Green Coffee Bean (GCB) Farmer Sustainability เพื่อยกระดับการผลิตกาแฟในประเทศไทยในฐานะที่อายิโนะโมะโต๊ะ เป็นผู้ผลิตกาแฟ ‘เบอร์ดี้’ บริษัทฯ จึงได้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตรในการส่งเสริมมาตรฐาน ‘GAP’ แก่เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ เพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โครงการนี้ช่วยให้การเพาะปลูกกาแฟดำเนินไปอย่างยั่งยืน พร้อมลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
มุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืน
สำหรับเป้าหมายในอนาคต ในปี พ.ศ. 2573 อายิโนะโมะโต๊ะตั้งเป้าที่จะดำเนินธุรกิจแบบ Net Zero อย่างเต็มรูปแบบ พร้อมทั้งขยายการตรวจสอบย้อนกลับวัตถุดิบทางการเกษตรให้ครอบคลุมตั้งแต่ขั้นตอนการเพาะปลูกไปจนถึงกระบวนการผลิต เพื่อให้การลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในขอบเขตที่ 3 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
“Roadmap สู่ความยั่งยืนของเรา จะช่วยส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมการเกษตรในประเทศไทย และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดียิ่งขึ้น นอกจากการลดคาร์บอนไดออกไซด์ เรายังให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจไทย เพื่อสร้างอนาคตที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน” นพดล กล่าวทิ้งท้าย