เมื่อวันที่ 25 ก.พ. อาจารย์ลอย ชุนพงษ์ทอง ยูทูบเบอร์ชื่อดัง ได้ออกมาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ “พิสูจน์ ฮั้ว สว. ขนใส่รถบัสมา 1,200 คน ยิงตรง 120 แฝงอีก 20” ผ่านทางช่องยูทูบ Loy Academy ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่มีการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ครั้งที่ 2/2568 โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ในฐานะกำกับหน่วยงานด้านความมั่นคง เป็นประธานกรรมการ มีประเด็นที่ทางสังคมเฝ้าติดตาม เรื่อง “การร้องขอให้ตรวจสอบกระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา 2567” แต่ระหว่างการประชุมกรรมการทั้งหมดได้มีการดีเบตเรื่องข้อมูลกัน จนท้ายสุดกรรมการได้เสนอให้มีการเลื่อนลงมติออกไปก่อน ให้เหตุผลว่าต้องเชิญ กกต. เข้ามาชี้แจงด้วย

ขณะที่ อาจารย์ลอย ยูทูบเบอร์เชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์และดาราศาสตร์ได้ลองวิเคราะห์พิสูจน์เชิงคณิตศาสตร์ ตั้งสมมุติฐานผ่าน 5 โจทย์ คือ 1.ฮั้วจริงหรือไม่ 2.ตั้งเป้ากลุ่มละ 6 คน ทั้ง 20 กลุ่ม มาจากไหน เป็นไปได้อย่างไร 3.แผนงานรอบเช้าให้เข้ารอบกี่คน 4.รอบบ่าย ตั้งเป้าให้มีผู้ชนะกี่คะแนน และ 5.มีผู้ร่วมขบวนการกี่คน จากการเลือก สว.ใน “ระดับประเทศ” เท่านั้น ภายหลังการคัดเลือก สว. ระดับอำเภอ และระดับจังหวัดเสร็จสิ้นลง ทำให้ได้ตัวแทน สว. จาก 20 กลุ่มอาชีพ จำนวน 2,995 คน เพื่อเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกระดับประเทศ เพื่อเฟ้นหา “สว.ตัวจริง” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2567 ที่อาคาร 4 ศูนย์การประชุม อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี

อาจารย์ลอย อธิบายว่า จาก 150 คน ในตอนเช้าเป็นการเลือกกันเอง คัดเหลือ 40 คน ให้กระสุนคนละ 10 นัด สามารถเลือก-ไม่เลือกตัวเองก็ได้ ส่วนตอนบ่ายหลังจากได้ 40 คนแล้ว คัดเหลือ 10 คน เป็น สว.ตัวจริงครั้งนี้ให้กระสุน 20 นัด ไม่มีสิทธิเลือกตัวเองอยู่แล้ว ต้องเลือกคนในกลุ่มอื่นในสายเดียวกัน ซึ่งมี 4 สาย สายละ 5 กลุ่ม โดยคนใน “กลุ่มของเขา” จะมีกลุ่มอื่น 4 กลุ่มให้เลือก คิดง่ายๆ หากเทียบกับหวยล็อก การซื้อหวยเพียง 1 ใบ แล้วถูกรางวัลที่ 1 จะบอกว่าล็อกหวยได้หรือไม่ คงไม่ได้ แต่ถ้างวดต่อมาซื้อหวยอีกใบ แล้วถูกรางวัลอีก พองวดต่อไปซื้อหวยใบเดียว ก็ยังถูกรางวัลที่ 1 อีก ทว่า การถูกรางวัล 3 งวดติดกันแบบนี้เรียกว่า หวยล็อกหรือไม่ โอกาสแบบนี้ เป็น 1 ในล้านล้านล้าน

แต่ก็ยังง่ายกว่าคน 2 คน เขียน 10 หมายเลขเหมือนกัน นั่นคือการเลือก สว.รอบแรก ในรอบเช้าบังเอิญเขียนเหมือนกัน 10 ใบ เป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่ฮั้ว เมื่อพิจารณาจากกระดาษ 2 ใบ เขียนหมายเลขเหมือนกัน แถมยังเรียงเหมือนกัน โพยฮั้วที่ปรากฏในสื่อไม่ได้มีแค่ 2 ใบ แต่กลับเหมือนกันเป๊ะถึง 10 ใบ โอกาสที่ใบที่ 3-10 จะเหมือนใบแรกก็คือ 5,567 ล้านล้านล้าน x 9 จะเท่ากับ 5.13441658626604 x 10 ยกกำลัง 195 หรือเป็น 196 หลัก เมื่อเทียบกับจำนวน อะตอมในจักรวาล ที่มีอยู่มหาศาล ซึ่งนักฟิสิกส์พอประมาณได้ว่า 10 ยกกำลัง 82 (ไม่เกิน) แต่นี่เรากำลังพูดถึง x 10 ยกกำลัง 195 ยิ่งกว่าจำนวน อะตอมในจักรวาลเสียอีก ดังนั้น การเขียนเหมือนกันทั้ง 10 ใบจะเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าไม่ฮั้ว หรือไม่บอกกันมา กราฟแสดงชัดเจน การโหวตไม่ปกติ

อาจารย์ลอย นำข้อมูลตารางที่เผยแพร่เป็นสาธารณะจากไอลอว์ ปรากฏคะแนนจากผู้สมัคร สว. 20 กลุ่ม ปกติแต่ละกลุ่มมีผู้เข้าแข่งขันจังหวัดละ 2 คน จาก 77 จังหวัด (77×2 = 154 คน) ยกเว้นบางจังหวัดที่มีการสละสิทธิ หรือส่งไม่ครบ โดยกลุ่มที่น้อยสุดคือ กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม จำนวนผู้เข้าชิง 129 คน จากตารางพบว่า คอลัมน์ถัดไปเป็นคะแนนรอบบ่าย สังเกตคะแนนผู้ได้ลำดับ 1-6 มีคะแนนมากเป็นพิเศษ ต่างจากคนได้คะแนนในลำดับที่ 7-10 เมื่อนำคะแนนมาพล็อตจุดให้ดูทั้ง 20 กลุ่ม จะเห็นชัดเจนว่า คะแนนต่างกันมาก ในทางสถิติมีการกระจายความน่าจะเป็น ถ้ามีการโหวต ปกติไม่ฮั้ว จุดที่เห็นจะเกาะเส้นสีแดง ไม่กระโดด หรือต่ำกว่ากราฟแบบนี้ กราฟนี้แกน X คือลำดับที่สอบได้ สอบได้ที่ 1 มี 20 จุด สอบได้ที่ 2 มี 20 จุด สอบได้ที่ 3 ก็มี 20 จุด สังเกตว่าคนที่สอบได้ที่ 1-6 เหนือชั้นจริงๆ แต่ 7-10 ต่ำชั้นชัดเจน เข้าใจทฤษฎียั้งมือ หากคะแนนไม่ได้มาตามธรรมชาติจริง

การเลือกในรอบบ่ายสำคัญยิ่ง เพราะต้องวางแผนจากภาพรวม เมื่อดูคะแนนของกลุ่มสีน้ำเงินที่ได้ แล้วนำมาเฉลี่ย พบว่า ได้ 60 เกือบเป๊ะ สะท้อนว่า วางแผนไว้ที่ 60 คะแนน ซึ่งเป็น 60 คะแนน ที่มาจาก 4 กลุ่ม ฉะนั้น ให้นำ 60 หาร 4 จะได้ 15 แสดงว่า รอบบ่ายต้องมีในกำมือทุกกลุ่ม กลุ่มละ 15 คน จากทั้งหมด 40 คนที่เข้ารอบในรอบบ่าย การคำนวณดังกล่าวเป็นการคำนวณขั้นต่ำ ที่ 15 คน ฉะนั้น จึงมีความเป็นไปได้สูงมากว่า กลุ่มนี้เข้ามารอบบ่ายมากกว่ากลุ่มละ 15 คน อาจเป็น 22 ก็ได้ แต่เพราะยั้งมือไว้นั่นเอง จึงใช้แค่ 15 คน ที่เหลืออีก 7 คน อาจทำเหมือนเป็นผู้สมัคร สว.อิสระ เมื่อประเมิน ขั้นต่ำตั้งใจส่งแต่ละกลุ่มไป 15 คน ต้องคำนวณค่าเฉลี่ยของคะแนนจากคะแนนของอันดับ 1-15 ซึ่งเท่ากับ 29 ทำให้คะแนนรวมของทีมคือ 432 (15×29 = 432) อย่าลืมว่า 1 คน มี 10 คะแนน ดังนั้น จึงต้องใช้ 43 คนต่อ 1 กลุ่ม เมื่อรวม 20 กลุ่ม ต้องใช้ 864 คน

“หากเป็นกุนซือคงไม่เตรียมแค่ 15 คน แต่จะเตรียม 22 คน เพราะรอบแรกเลือกกันเอง มีแนวโน้มทรยศสูง ใครๆ ก็อยากเลือกตัวเอง ไม่เลือกเพื่อน ฉะนั้น หากจะส่งรอบบ่ายกลุ่มละ 22 คน คะแนนเฉลี่ยคือ 27 เมื่อรวมคะแนนของทีม 22×27 = 583 คะแนน/กลุ่ม เมื่อ 1 คน มี 10 คะแนน จึงใช้ 58 คนต่อ 1 กลุ่ม เมื่อมี 20 กลุ่ม ต้องคูณ 20 ทำให้ต้องมีขั้นต่ำ 1,167 คนในกระบวนการ หรือตีกลมๆ โดยประมาณ1,200 ในความเห็นของผม 1,200 คน เป็นตัวเลขที่เป็นไปได้มาก ถ้าจะให้ฟันธงก็ต้อง 900-1,200 คน มีแนวโน้มที่จะเอียงไปทาง 1,200 มากกว่า คือมุมมองของการคำนวนในเชิงคณิตศาสตร์ในความเป็นจริงต้องดูหลักฐานอื่นๆ ประกอบว่ามันสมเหตุสมผลไหม มีรถเข้าออกอย่างไร มีพยานบุคคลที่ชี้ชัดได้แค่ไหน” อาจารย์ลอย กล่าวทิ้งท้าย

ขอบคุณข้อมูล-ภาพ ยูทูบ “Loy Academy”