นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมการดำเนินงานในปี 2567 การบินไทยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 187,989 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ซึ่งมีรายได้รวม 161,067 ล้านบาท คิดเป็นเพิ่มขึ้น 16.7% ขณะที่กำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) อยู่ที่ 41,515 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ซึ่งมีกำไร 40,211 ล้านบาท คิดเป็นเพิ่มขึ้น 3.2% แต่หลังจากปรับโครงสร้างธุรกิจ ซึ่งมีผลทางบัญชี ทำให้การบินไทยมีผลขาดทุน 26,901 ล้านบาท แต่ยืนยันว่าตัวเลขดังกล่าวไม่ได้เป็นการสะท้อนการดำเนินงานที่แท้จริง เพราะเป็นรายการทางบัญชีที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว

ด้านนายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทยฯ กล่าวว่า ขณะนี้การบินไทยยังคงอยู่ในสภาวะที่ดี ซึ่งในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. 68 อัตราบรรทุกผู้โดยสาร (เคบินแฟกเตอร์) เฉลี่ย 85% สูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2567 โดยในปี 2568 ตั้งเป้าหมายจะขนส่งผู้โดยสารให้ได้ประมาณ 16.5 ล้านคน ซึ่งในปี 2567 ขนส่งผู้โดยสารได้ 16 ล้านคน โดยปัจจุบันบริษัทฯ ยังคงมีข้อจำกัดเรื่องเครื่องบินเหมือนกับสายการบินอื่นๆ ที่ต้องรอการผลิต จึงทำให้ปีนี้แนวโน้มจะไม่เพิ่มจุดบินใหม่ แต่ช่วงปลายปีจะเพิ่มความถี่ในบางเส้นทางมากขึ้น โดยประมาณปลายไตรมาสที่ 2 ปี 2568 (เม.ย.-มิ.ย.68) จนถึงปลายไตรมาสที่ 3 ปี 2568 (ก.ค.-ก.ย.68) บริษัทฯ จะรับมอบเครื่องบินเข้ามาเพิ่ม 9 ลำ จากปัจจุบันมี 79 ลำ รวมเป็น 88 ลำ 

นายชาย กล่าวต่อว่า ขณะนี้การบินไทยยังต้องขายเครื่องบินที่ปลดระวางไปก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟู ได้แก่ เครื่องบินโบอิ้ง 777-300 อีก 6 ลำ เนื่องจากผู้สนใจรายเก่าไม่ได้มาตามกำหนด จึงได้ยกเลิกสัญญาไปแล้ว สำหรับแผนฟื้นฟูฯ ยังคงยืนยันว่าจะยื่นศาลล้มละลายกลาง เพื่อออกจากแผนฟื้นฟูฯ ได้ในเดือน เม.ย.นี้ และจะกลับเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในเดือน มิ.ย.68 อย่างไรก็ตามในเร็วๆ นี้ บริษัทฯ มีแผนลงนามความร่วมมือกับบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ในการลงทุนโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา วงเงินประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ส่วนรายละเอียด และรูปแบบการลงทุนตลอดจนจะถือหุ้นในสัดส่วนเท่าใด ยังอยู่ระหว่างการเจรจา

ขณะที่นายกรกฎ ชาตะสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้การบินไทยทำการบินอยู่ทั้งหมด 64 เมืองทั่วโลก ซึ่งในตารางบินฤดูหนาวปี 2568 จะเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางต่างๆ จาก 843 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 883 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ หรือประมาณ 40 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เพื่อรองรับการเดินทางในเส้นทางยอดนิยม อาทิ จีน อินเดีย เยอรมนี และญี่ปุ่น.