พระพุทธเมตตา” จัดสร้าง ณ วัดเทพประทาน (อธิพร) .ทรายขาว อ.สอยดาว จ.จันทบุรี โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญยิ่งคือ… เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 และเพื่อเป็นอนุสรณ์สถิตคู่กับอาคารปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ 7 รอบ 84 พรรษา ปี 2550 นอกจากนี้ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา สืบอายุพระพุทธศาสนา เพื่อให้พุทธศาสนิกชนชาวไทย รวมถึงชาวต่างชาติ ได้สักการะ เป็นพระพุทธรูปสำคัญของภาคตะวันออก ของประเทศไทย และของชาวพุทธทั่วโลก

โครงการจัดสร้าง “พระพุทธเมตตา” ได้รับพระเมตตาจาก สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นประธานที่ปรึกษาฝ่ายสงฆ์, พระอาจารย์ธาตุ อธิปัญโญ เจ้าอาวาสวัดเทพประทาน ผู้ริเริ่มโครงการ เป็นที่ปรึกษาฝ่ายสงฆ์, พล..สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการจัดสร้าง, พล...ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการจัดสร้าง โดยมีบุคคลสำคัญแวดวงต่าง ๆ มีส่วนเกี่ยวข้องมากมาย

ทั้งนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ทรงวางศิลาฤกษ์โครงการจัดสร้าง “พระพุทธเมตตา”ปี 2554 และมีการตอกเสาเอกต้นแรกปี 2556 ซึ่งจากข้อมูลเผยแพร่ของทางโครงการจัดสร้าง หัวข้อสำคัญบางหัวข้อ โดยสังเขปมีว่า… ในส่วนการสร้างอาคาร เส้นผ่านศูนย์กลางอาคารคือ 65 เมตร พื้นที่ใช้สอยประมาณ 1 หมื่นตารางเมตร จำนวนเสาเข็ม 664 ต้น อาทิ เสารับองค์พระ เส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตร 18 ต้น นอกนั้นเป็นเสาขนาด 60 เซนติเมตร

ต้นแบบองค์พระนั้น แล้วเสร็จปี 2562 ซึ่งกรมศิลปากรเป็นผู้จัดปั้น โดยการจัดสร้าง “พระพุทธเมตตา” ตามโครงการนี้ เป็น พระพุทธรูปปางชนะมาร หรือปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 29 เมตร สูง 45 เมตร สร้างด้วยนิล ประมาณ 2 พันตัน (มีเก็บสำรองไว้อีกส่วนหนึ่ง) และ ฉาบพลอย (ทับทิม) ประมาณ 350 ตัน (มีเก็บสำรองไว้ 150 ตัน) ส่วนการหล่อพระฉวี (ผิว) ใช้วิธีกัดโฟมแทนการหล่อแบบ โดยกัดโฟมเป็น 2 วง (วงนอก-วงใน) ทำให้ลดขั้นตอนการทำงานจากวิธีเดิม

การสร้างบัวฐานพระ-พระกร-พระศอ-พระเศียร ดำเนินการด้วยวิธีปูนปั้น ภายในเสริมเหล็กเส้นเล็กและตะแกรงกรงไก่ ตกแต่งองค์พระด้วยพลอย เวลากลางวันองค์พระจะเป็นสีดำประกายชมพู กลางคืนจะเป็นชมพูอมแดง ทั้งนี้ วัสดุสำคัญขององค์พระ หลัก ๆ มีดังนี้คือ… ดวงพระเนตร ประกอบด้วย พระเนตรดำ-สะเก็ดดาว หรืออุลกมณี 2 ก้อน ๆ ละกว่า 1 ตัน กว้าง 45 เซนติเมตร ยาว 8.5 เซนติเมตร พระเนตรขาว-กาบหอยมุก, เม็ดพระศก (ก้นหอย) 426 เม็ด ภายในมี หินเขี้ยวหนุมาน หรือ หินดันฟ้า บรรจุไว้ ป้องกันฟ้าผ่า, พระเกศเปลวเพลิง แยกเป็นแฉก 2 ข้าง ๆ ละ 3 แฉก ซึ่งก็บรรจุหินดันฟ้า

ดวงพระหทัยใช้หินสุริยันจันทรา

ดวงพระหทัย สร้างด้วย หินไข่มุกราตรี หรือ หินสุริยันจันทรา กว้าง 1.2 เมตร ยาว 1.5 เมตร สีเขียวคล้ายหยก ซึ่งหินดังกล่าวนี้มีคุณสมบัติพิเศษคือ เก็บพลังงานแสงอาทิตย์ในตอนกลางวัน และส่องสว่างในตอนกลางคืนในส่วน พระอุณาโลม ที่เป็นหนึ่งในลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการ กว้าง 1.5 เมตร สูง 1.2 เมตร ทำจาก พลอยทับทิมสีแดง 3,670 เม็ด ๆ ละประมาณ 10 กะรัต น้ำหนักรวม 36,700 กะรัต, พระนขา (เล็บ) ทำจากกาบหอยมุก พื้นที่เล็บพระหัตถ์ 0.2 ตารางเมตรต่อเล็บ

พระพุทธเมตตา” มีองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งคือ ผ้าทิพย์ และตราสัญลักษณ์ ภปร 84 พรรษา ซึ่งทำจากปูนปั้นพร้อมโครงเหล็ก ทั้งนี้ ประธานคณะกรรมการจัดสร้าได้รับพระบรมราชานุญาตเมื่อปี 2554 ให้เชิญตราสัญลักษณ์ “ภปร” เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 ประดับบนผ้าทิพย์

พระเกศบรรจุหินดันฟ้า

ทั้งนี้จากข้อมูลเผยแพร่ของโครงการจัดสร้าง พระสมเด็จองค์ปฐม “พระพุทธเมตตา”ณ วัดเทพประทาน (อธิพร) ต.ทรายขาว อ.สอยดาว จ.จันทบุรี ยังมีส่วนที่ระบุถึง“แรงศรัทธาที่น่าอัศจรรย์” โดยสังเขปมีว่า… นับเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญ ที่ต้องจารึกไว้ให้อนุชนรุ่นหลังอนุโมทนาบุญ และทราบถึงความมหัศจรรย์ในความสำเร็จการจัดสร้าง

พระพุทธเมตตา” จัดสร้างด้วยวัตถุธาตุล้ำค่า สร้างด้วยนิลรัตนะทั้งองค์ และประดับผิวองค์พระทั้งองค์ด้วยพลอยรัตนะ พลอยนพเก้า ซึ่งงดงาม อลังการ และมีขนาดใหญ่มาก ถือเป็นองค์แรกและองค์เดียวในโลก

เม็ดพระศกทำด้วยนิลพลอย

การจัดสร้างใช้เทคนิคสมัยใหม่ วิธีการใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีหน่วยงานใดใช้จัดสร้างมาก่อน สร้างอย่างประณีต มีความมั่นคงแข็งแรงทั้งองค์พระและอาคารฐานองค์พระ ซึ่งผู้ที่อยู่ในวงการก่อสร้างและวงการสร้างพระปรารภว่าไม่เคยเห็นที่ใดมีการจัดสร้างองค์พระและอาคารฐานพระมั่นคงถาวรเช่นนี้ คือสร้างได้เกินมาตรฐาน คงทนถาวรเป็นสมบัติของชาติได้นับร้อย ๆ ปี

ในการจัดสร้างมีการติดต่อประสานงาน ขอความสนับสนุน จากหน่วยราชการ หน่วยงานต่าง ๆ และมหาชน จำนวนมาก ตั้งแต่ระดับประเทศ ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ระดับตำบล มาตลอดเวลาที่ดำเนินโครงการ รวมถึงนับตั้งแต่การสำรวจชั้นดินและหินเมื่อปี 2553 ซึ่งการจัดสร้างมีการเก็บงานอย่างละเอียดทุกขั้นตอน คัดสรรวัสดุอย่างดีที่สุดทุกรายการ ทั้งในส่วนองค์พระและอาคารฐานพระ ขณะที่การคัดพลอย ล้างพลอย ไม่ได้ว่าจ้างบริษัทหรือองค์กรใดดำเนินการ แต่ดำเนินการด้วยแรงศรัทธาจากพระสงฆ์ แม่ชี ประชาชน ทั้งผู้สูงอายุ นักเรียน ไปจนถึงเด็กน้อยอายุ 3 ขวบ ที่ร่วมสร้างบุญใหญ่ด้วยการคัดพลอย ซึ่งการคัดพลอยถือเป็นการปฏิบัติธรรมไปในตัว และแม้แต่เทปูน หล่อพระ ก็ได้มีจิตอาสาจำนวนมากมาร่วมกันสร้างบุญนี้

พระอุณาโลมประดับทับทิมแดง

โครงการจัดสร้าง“พระพุทธเมตตา”ดำเนินการ 12 ปีจึงแล้วเสร็จ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับโครงการอื่น ๆ ก็ถือว่าใช้เวลาน้อยกว่ามาก อีกทั้งยังใช้งบประมาณน้อยมาก คือจากงบประมาณที่กำหนดไว้แต่เดิม 350 ล้านบาท แม้จะเพิ่มเป็น 450 ล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับโครงการอื่นทั้งปริมาณงานและคุณภาพงาน มีผู้คาดการณ์ว่าโครงการนี้น่าจะต้องใช้งบประมาณถึง 2,000 ล้านบาท หากทุกขั้นตอนต้องใช้บริษัทรับเหมา หรือการว่าจ้าง หรือเช่าอุปกรณ์ หรือจัดซื้อจัดหาวัสดุ เช่น พลอย

พระนขาทำจากกาบหอยมุก

มีเหตุอัศจรรย์เกิดขึ้นที่วัดเทพประทานเสมอ ตั้งแต่เริ่มขึ้นงานฐานราก จนถึงการหล่อองค์พระ การทำงานเทคอนกรีตไม่เคยมีฝนให้เป็นอุปสรรคขณะทำงาน แต่ครั้นเทคอนกรีตใกล้แล้วเสร็จ เมฆฝนจะเริ่มมาแทบทุกครั้ง นอกจากนี้ พระอาทิตย์ทรงกลดเป็นประจำที่มีพิธีสำคัญ ๆ ตั้งแต่พิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อปี 2554 และการหล่อองค์พระในแต่ละช่วง รวมทั้งเมื่อครั้งเชิญอุณาโลมขึ้นประดิษฐานที่พระนลาฏ บ่ายวันนั้นอากาศเย็นสบาย ไม่มีแดด ฝนตกโปรยปรายประหนึ่งเทวดาประพรมน้ำมนต์ จนเสร็จพิธีแล้วแดดจึงแรงมากและร้อนจัด ซึ่งเหตุอัศจรรย์ทุกครั้งเป็นนิมิตรหมายที่ดีว่าปวงเทพเทวดาฟ้าดินรับทราบบุญมหากุศลการจัดสร้างพระสมเด็จองค์ปฐม พระพุทธเมตตา ของผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันในบุญใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์นี้” …นี่เป็นอีกส่วนจากข้อมูลเผยแพร่ของทางโครงการนี้

และรวมถึงยังมีข้อมูลเกร็ดความเชื่อที่ว่า… การจัดสร้างพระพุทธรูปด้วยนิลรัตนะ เชื่อกันว่าจักมีอานิสงส์สูงสุด คือ อสงไขยกัป และการสร้างพระพุทธรูปด้วยวัตถุธาตุใดก็ตาม จัดว่าได้สะสมมหากุศลมหาบารมีให้เกิดขึ้น อันจะเป็นอุปนิสัยปัจจัยแก่มนุษยสมบัติ สวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติ และพุทธสมบัติ ในกาลต่อไปเบื้องหน้า…”

ทีมวาไรตี้