สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ว่า คณะกรรมการตัดสินรางวัลพริตซ์เกอร์ (Pritzker Prize) ซึ่งได้รับการขนานนามว่า เป็นรางวัลโนเบลสาขาสถาปัตยกรรม ระบุในแถลงการณ์ว่า นายหลิว เจียคุน ได้ให้คำตอบของความท้าทายทางสังคม และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ด้วยการเชิดชูชีวิตประจำวันของผู้คน รวมถึงอัตลักษณ์ชุมชนและจิตวิญญาณของพวกเขา

หลิว อยู่เบื้องหลังการออกแบบมากกว่า 30 โครงการในจีน ตั้งแต่สถาบันทางวิชาการและวัฒนธรรม ไปจนถึงพื้นที่สาธารณะและอาคารพาณิชย์ หลิวอาศัยและทำงานเป็นหลักอยู่ที่เมืองเฉิงตู ในมณฑลเสฉวน และให้ความสำคัญกับการนำวัสดุในท้องถิ่นมาใช้ รวมถึงเทคนิคการก่อสร้างแบบดั้งเดิม

“สถาปัตยกรรมควรเปิดเผยบางอย่าง… เป็นนามธรรม กลั่นกรองความคิด และทำให้มองเห็นถึงคุณค่าของคนในท้องถิ่น” หลิวกล่าว โดยสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถของเขาในการสร้าง “ความรู้สึกถึงเครือข่ายในชุมชน”

ทั้งนี้ ผลงานจากการออกแบบของหลิว รวมถึง “พิพิธภัณฑ์นาฬิกาเฉิงตู” ซึ่งเป็นโครงสร้างวงกลมขนาดใหญ่ ที่มีช่องแสงบนหลังคา และส่องลงมายังภาพถ่ายด้านใน

นายอเลฮานโดร อาราเวนา เจ้าของรางวัลปี 2559 และประธานคณะกรรมการตัดสินรางวัลพริตซ์เกอร์ปีนี้ กล่าวว่า ผลงานของหลิว ให้เบาะแสเกี่ยวกับการรับมือกับความท้าทายจากการขยายตัวของเมือง ซึ่งในบางครั้งเป็นทั้งอาคาร โครงสร้างพื้นฐาน ภูมิทัศน์ และพื้นที่สาธารณะในเวลาเดียวกัน

“เมืองมักจะแบ่งแยก แต่หลิวได้ใช้แนวทางตรงกันข้าม และรักษาสมดุลที่ละเอียดอ่อนเพื่อบูรณาทุกมิติของชีวิต” อาราเวนา กล่าว.

เครดิตภาพ : AFP/ The Pritzker Prize