หลายคนตามดูปฏิกิริยาของ “สว.สีน้ำเงิน” หลังคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) มีมติไม่รับคดีฮั้วเลือก สว. 67 ในข้อหา “อั้งยี่” และ ความมั่นคง ให้เป็นคดีพิเศษ โดยให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ดำเนินคดีเฉพาะความผิดฐานฟอกเงิน แม้จะอ้างว่า มีบรรดา สว.สำรองนำหลักฐานมาร้องเรียน แต่หลายคนก็มองว่า เรื่องนี้มี กลิ่นอายทางการเมือง เจือปนอยู่ เพราะมีบางพรรคก็ต้องการเข้าไปมีอิทธิพลในสภาสูง เนื่องจากมีอำนาจในการพิจารณาสรรหาบุคคลที่เข้าไปทำงานในอิสระ และเห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.)

อีกทั้งไม่บ่อยครั้งนักที่ “นายภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ต้องออกโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยตอนหนึ่งระบุว่า ในการทำหน้าที่ประธาน กคพ. ความโปร่งใสคือหัวใจ ของความชอบธรรม เมื่อวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา กคพ. ได้มีมติให้กรณีการสมคบกันใน ความผิดฐานฟอกเงิน ของบุคคลหรือคณะบุคคลที่กระทำผิดเป็นอั้งยี่ ที่เกี่ยวข้องกับ การได้มาซึ่ง สว. เมื่อปี 2567 เป็นคดีพิเศษ โดยพิจารณา บนฐานข้อเท็จจริง กรณีที่มีผู้เสียหายมาร้องทุกข์กล่าวหากับทางดีเอสไอ
“การที่ดีเอสไอใช้อำนาจตามกฎหมายเพื่อสืบสวนข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการเลือกตั้ง สว. เป็นการดำเนินการที่จำเป็น ไม่ใช่ เรื่องของเกมการเมือง แต่เป็นเรื่องของหลักนิติรัฐและความยุติธรรม เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับเลือกมาปฏิบัติหน้าที่นั้น เป็นตัวแทนที่มาจาก กระบวนการที่ถูกต้อง และโปร่งใส รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมสนับสนุนให้มีการตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้ เกิดความเป็นธรรม และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่าการเลือกตั้ง สว. เป็นไปตามกฎหมาย ไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง นี่คือหลักการสำคัญของการบริหารประเทศ ภายใต้รัฐธรรมนูญ (รธน.) และ หลักนิติธรรม ที่รัฐบาลมุ่งมั่นดำเนินการอย่างจริงจัง” นายภูมิธรรม ระบุ

ด้าน “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงมติ กคพ.ที่ใช้เสียง 11 เสียง รับคดีฮั้วเลือก สว. เป็นคดีพิเศษฐานความผิดฟอกเงิน ว่า สามารถทำได้ เพราะจากการสอบสวนพยานสามารถเชื่อได้ว่ามีเงินสะพัดในการเลือก สว. ครั้งนี้กว่า 300 ล้านบาท มูลค่าเข้าข่าย เป็นการฟอกเงิน ซึ่งดีเอสไอสามารถรับเป็นคดีพิเศษได้ด้วย เสียงเกินกึ่งหนึ่ง จึงไม่จำเป็นต้องพิจารณาความผิด เรื่องการจ้างให้ดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนความผิดฐานอั้งยี่ การได้มาซึ่ง สว. หรือการฮั้ว และความผิดอื่นๆ เช่น ความผิด เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.116(3) ที่มีการร้องทุกข์ไว้ หากมีความเชื่อมโยงก็ให้ ถือเป็นคดีพิเศษ ซึ่งตอนนี้ดีเอสไอ มีพยานประมาณ 7,000 คน ซึ่งเป็นผู้ที่เข้าไปใน พื้นที่การเลือก สว. ระดับประเทศ ที่เมืองทองธานี ถึง 3,000 คน เราก็จะ ดูพยานหลักฐานนี้ โดยได้ส่งหนังสือขอให้พนักงานอัยการร่วมสอบสวนด้วย เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์และพิสูจน์ความผิดไม่ต้องห่วง โดยได้ให้นโยบายดีเอสไปแล้วจะต้องใช้เวลารวบรวมหลักฐาน ไม่เกิน 3 เดือน เพราะสอบมานานแล้ว
เมื่อถามว่า เป็น การเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยง เพื่อให้ได้คดีนี้มาอยู่ในมือใช่หรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ไม่ใช่ มีผู้มาร้องทุกข์และมีการสืบสวน และจริงๆ แล้ว กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นฝ่ายมาขอให้เราทำ เราจึงต้องร่วมมือกับ กกต. และเมื่อพบพยานหลักฐานแล้ว กกต.ก็สามารถนำไปพัฒนานิดหน่อยและใช้ในการยื่นต่อ ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง เพื่อถอดถอนได้ และคิดว่าหลักฐานที่มีการจ่ายเงิน น่าจะถึง 20 คน ถ้า กกต.ร่วมมือกัน ซึ่งตอนนี้ก็คิดว่าเขาร่วมมือ เพราะเขาส่งหนังสือมา และเราไม่ได้ก้าวล่วงอำนาจเขา ตราบใดที่เขายังไม่ยกเลิก ดีเอสไอและตำรวจเข้าไปร่วม สืบสวนคดีฮั้วเลือก สว. เราก็พยายามรวบรวมพยานหลักฐานให้ เพราะอำนาจของ กกต. คือการเดินหน้าถอดถอนบุคคลที่ได้ซึ่งตำแหน่ง สว.โดยมิชอบ
เชื่อว่าหลายคนจับตามอง นับจากวันนี้ไป จนถึง 3 เดือน จะสามารถสรุปสำนวน ถึงขั้นนำคดี ขึ้นสู่ศาลได้ โดยระบุว่ามีหลักฐานที่มีการจ่ายเงิน น่าจะถึง 20 คน หรือตัวเลขดังกล่าว เป็นการส่งสัญญาณบางอย่าง ที่บ่งชี้ในบางประเด็น ซึ่งหวังว่าการขีดเส้นดังกล่าว จะไม่รวบรัดทำให้ดีเอสไอ ทำสำนวนไม่รอบคอบ มีช่องว่างช่องโหว่

ขณะที่ “นายสรชาติ วิชย สุวรรณพรหม” สว. กล่าวถึงกรณีดีเอสไอรับตรวจสอบการเลือก สว. ประเด็นฟอกเงิน ไว้พิจารณา ว่าต้องมีวงเงินทั้งกระบวนการ จำนวน 300 ล้านบาท ต้องตรวจสอบให้ได้ว่ามาจากไหน หากไม่ได้ หรือยอดเงินไม่ถึง เท่ากับว่าไม่เข้าข่าย การสอบสวนต้องยุติ ซึ่งพวกเรามั่นใจว่าไม่มีหลักฐาน ที่ถึงจำนวนดังกล่าวและมั่นใจว่าไม่มีการฮั้ว เพราะ สว.ปัจจุบันที่ถูกกล่าวหานั้น ไม่มีพฤติกรรมอะไร แต่พวกสอบตก หรือ พวกที่มาร้อง คือ พวกที่ทำแล้วทำคะแนนไม่ได้จึงมาร้อง ดังนั้นจึงมาร้องว่าคนอื่นฮั้ว เป็นคนที่วางแผนเข้ามา ทั้งนี้คนกลุ่มดังกล่าวเป็นคนกลุ่มเดียว กับที่ปิดห้องลับ จำนวน 400 คน และยังมีที่อื่นๆ อีก ซึ่งเป็น คนกลุ่มปลายแถว ที่จัดฮั้ว แต่เมื่อทำไม่สำเร็จจึงมาร้อง ดังนั้นจึงเป็นเกมของผู้แพ้
เมื่อถามว่า เรื่องตรวจสอบจะ เกี่ยวกับ 1,200 รายชื่อ ผู้สมัคร สว.ที่เปิดเผยก่อนหน้านี้หรือไม่ นายสรชาติ กล่าวว่า เป็นการสร้างหลักฐาน เพื่อให้เชื่อมโยง และให้มีความน่าเชื่อถือเท่านั้น ส่วนโพยที่กล่าวหานั้น สามารถทำย้อนหลังได้หมด แต่เป็นหลักฐานไม่ได้ ยกเว้นนำไปตรวจดีเอ็นเอ หรือ พิสูจน์ลายมือ ได้ว่าเป็นของใคร ส่วนที่มีชื่ออยู่ใน 1,200 รายชื่อด้วยนั้น ไม่กังวล เพราะไม่ได้ฮั้ว ก่อนหน้านี้ได้เข้าชี้แจง กกต. ตามที่มีข้อร้องเรียนให้ตรวจสอบ มีเอกสารไปชี้แจงและ ยืนยันได้ทั้งหมด ส่วนโพยนั้นทุกคนต้องมี เพราะไม่รู้จักกันทั่วถึง เมื่อถามว่า ประเด็นดังกล่าวมองว่ามีการเมืองอยู่เบื้องหลัง เพราะต้องการ เปลี่ยนสีเสื้อ สว. หรือไม่ นายสรชาติ กล่าวว่า เป็นไปไม่ได้ เพราะ สว.ไม่มีสีเสื้อ ไม่มีข้อบังคับให้อยู่กับกลุ่มใด ทุกคนทำงานอิสระ เมื่อถามย้ำว่า มีการวิเคราะห์ว่า เหตุที่ต้องเปลี่ยนสี สว. เพราะเกี่ยวกับการตัดสินใจเลือกองค์กรอิสระ นายสรชาติ กล่าวว่า การเลือกองค์กรอิสระ ไปตามกระบวนการ

ส่วน “นางอังคณา นีละไพจิตร” สว. กล่าวถึง กรณีมติ กคพ. รับคดีฮั้วเลือก สว.เป็นคดีพิเศษ ฐานความผิดฟอกเงิน ว่า ที่น่าจะมีการพูดคุยกันแล้วในระดับหนึ่ง ที่มีข่าวว่า นายเนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ ไปพบกับ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ส่วนตัวไม่เชื่อว่าไปคุยเรื่องเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ตามที่เป็นข่าว คิดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องคดีนี้ด้วยถือเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่ง กกต. ควรจะรีบเร่งในการดำเนินการ ไม่ควรปล่อยให้ล่าช้า และคลุมเครือไปเรื่อยๆ เมื่อถามถึง กรณีที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ระบุว่าหากมีการอั้งยี่กันก็สามารถที่จะสอบต่อไปได้ มองว่าจะมีการนำประเด็นนี้ ออกมาเล่นเกมการเมืองในช่วงไหน นางอังคณา กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลแต่ละสมัยก็พบว่าดีเอสไอ ถูกใช้เป็น เครื่องมือทางการเมือง มีอดีตอธิบดีเคยติดคุก ดีเอสไอก็ต้องพิสูจน์ตัวเองว่าไม่เป็นเครื่องมือทางการเมือง พ.ต.อ.ทวี ก็เหมือน เดิมพันด้วยตำแหน่ง ของตัวเอง หากสุดท้ายทำอะไรไม่ได้ก็น่าเสียใจ ที่พูดอะไรไปตั้งเยอะแต่สุดท้ายทำอะไรไม่ได้
ถือเป็นคำเตือนที่ส่งสัญญาณไปถึง ดีเอสไอ เพราะอดีตเคยถูกใช้เป็น เครื่องมือการเมือง ทำให้ “นายธาริต เพ็งดิษฐ์” อดีตอธิบดีดีเอสไอ เคยถูกคำพิพากษา ให้จำคุกมาแล้ว

ขนาดที่ภารกิจที่ทาง สว.ต้องเดินหน้าต่อ ในขณะที่ยังไม่มีปัญหาเรื่องสถานะ คือ การคัดเลือกองค์กรอิสระ คณะกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีมติเลือกบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ ป.ป.ช. แทนตำแหน่งที่ว่าง 3 คน ได้แก่ 1. นายประกอบ ลีนะเปสนันท์ ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา 2. นายเพียรศักดิ์ สมบัติทอง อธิบดีอัยการ สำนักงานคณะกรรมการอัยการ 3. นายประจวบ ตันตินนท์ อดีตผู้บริหารบริษัทมหาชน และผู้สอบบัญชีรับอนุญาต
ทั้งนี้ ทั้งสามรายชื่อจะเข้ามาทดแทนกรรมการ ป.ป.ช. ที่พ้นตำแหน่ง ได้แก่ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช., นางสุวณา สุวรรณจูฑะ และ นายวิทยา อาคมพิทักษ์ กรรมการ ป.ป.ช.
รายชื่อดังกล่าวมาจากกระบวนการสรรหาที่เปิดโอกาสให้ผู้สมัคร 34 คนแสดงวิสัยทัศน์ และเข้าสัมภาษณ์ต่อคณะกรรมการสรรหาเมื่อวันที่ 7-8 ก.พ. 68 ก่อนที่คณะกรรมการจะมีมติคัดเลือก บุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสม และ ไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามที่กฎหมายกำหนด ขั้นตอนต่อไป คณะกรรมการสรรหาจะเสนอรายชื่อทั้งสามให้ที่ประชุมวุฒิสภาพิจารณา ให้ความเห็นชอบต่อไป.
ก่อนเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับตัวเลขระหว่าง สส.พรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้าน หลัง “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” สส.พะเยา ประธานที่ปรึกษาพรรคกล้าธรรม (กธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงจำนวนเสียง สส.ของพรรคกล้าธรรม ในขณะนี้ว่า ถ้าหาก นับอย่างไม่เป็นทางการคือ 34 เสียง ส่วน สส.พรรคกล้าธรรมอย่างเป็นทางการคือ 24 เสึยง และ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่จะถึงนี้ เสียงพรรค กธ. จะไปใน ทิศทางเดียวกันทั้งหมด ผู้สื่อข่าวถามว่า จะบอกได้หรือไม่ว่า 34 เสียง มาจาก พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กี่เสียง ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า 24 เสียงจากพรรคกล้าธรรม ส่วนอีก 10 เสียงไม่ได้อยู่ในพรรคร่วมรัฐบาล

สมการ พรรคร่วมรัฐบาล 321 เสียง พรรคเพื่อไทย 142 เสียง พรรคภูมิใจไทย 69 เสียง พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง ประชาธิปัตย์ 25 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง พรรคประชาชาติ 9 เสียง พรรคชาติพัฒนา 3 เสียง พรรคไทรวมพลัง 2 เสียง พรรคกล้าธรรม 24 เสียงและพรรคประชาธิปไตยใหม่ 1 เสียง
ส่วนฝ่ายค้าน มีจำนวน 174 เสียง ประกอบด้วย พรรคประชาชน 143 เสียง พรรคไทยสร้างไทย 5 เสียง พรรคเป็นธรรม 1 เสียง พรรคไทยก้าวหน้า 1 เสียง พรรคประชาธิปไตยใหม่ 1 เสียง พรรคครูไทยเพื่อประชาชน 1 เสียง พรรคใหม่ 1 เสียง พรรคเสรีรวมไทย 1 เสียง และพรรคพลังประชารัฐ อีก 20 เสียง
แต่สำคัญที่สุด จำนวนตัวเลขไม่สำคัญเท่ากับข้อมูลที่ พรรคฝ่ายค้านจะนำเสนอ หากมีน้ำหนักมีการตรวจสอบปัญหาทุจริต นำเสนอโดย มีใบเสร็จเป็นหลักฐาน ต่อให้รัฐบาลมีเสียงมากขนาดไหน ก็สร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าหากไม่ยึดมั่น ในความซื่อสัตย์สุจริต ก็อยู่ยาก
ทีมข่าวการเมือง