จากกรณี น.ส.รักชนก ศรีนอก สส.กรุงเทพฯ พรรคประชาชน และนายสหัสวัต คุ้มคง สส.ชลบุรี พรรคประชาชน ร่วมแถลงข่าว “แฉเสียดฟ้า กองทุนประกันสังคมจงใจลงทุนผิดพลาด เพื่อเอื้อผลประโยชน์พวกพ้องหรือไม่” ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ย่านพระราม 9 ซึ่งเป็นอาคารที่ก่อสร้างไม่เสร็จตั้งแต่ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง โดยสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ซื้อมาในราคาประมาณ 7 พันล้านบาท ในขณะที่ราคาประเมินอยู่ที่ 3 พันล้านบาท เกิดเป็นส่วนต่างกว่า 4 พันล้านบาท เอื้อประโยชน์ใครหรือไม่ หรือนักการเมืองคนใด หรือพรรคการเมืองใดหรือไม่ ในช่วงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนก่อนหน้านี้ เพราะมีการส่งคนของตัวเองไปอยู่ในอนุกรรมการการลงทุน

ล่าสุดเวลา 16.20 น. วันที่ 10 มี.ค. นายสุชาติ ชมกลิ่น รมช.พาณิชย์ อดีต รมว.แรงงาน ที่ถูกพาดพิงในเรื่องดังกล่าวให้สัมภาษณ์กับเดลินิวส์ว่า จากที่ฟังการสัมภาษณ์ของสส.ทั้ง 2 คน อ้างเรื่องการลงทุนซื้ออาคารย่านพระราม 9 ในราคา 7 พันล้านบาท จากราคาประเมิน 3 พันล้านบาท นั้น ขอชี้แจงว่า ตามพ.ร.บ.ประกันสังคม รัฐมนตรีไม่มีสิทธิเข้าไปยุ่งเกี่ยวแม้กระทั่งรับรู้ ไม่มีสิทธิไปแต่งตั้งบอร์ด จนกว่าเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมพิจารณาเสร็จแล้ว ส่งให้ตนลงนาม ถึงจะมีสิทธิตอนนั้น ส่วนที่กล่าวอ้างว่า ตนแต่งตั้งคนหน้าห้องไปอยู่ในอนุกรรมการฯ นั้น ตนไม่มีหน้าห้องไปนั่งตรงนั้น แล้วการแต่งตั้ง ซี 7 ซี 8 ไม่ใช่อำนาจของรัฐมนตรี แต่เป็นอำนาจของเลขาฯ อธิบดี หรือปลัดกระทรวงฯ ดังนั้นไม่มีหน้าที่ของตนไปนั่งอยู่ตรงนั้นแน่นอน ส่วนที่บอกว่า มีคณะที่ปรึกษาไปนั่งนั้น ตนตั้งสหภาพแรงงานเป็นที่ปรึกษาเป็นร้อยๆ คน คนที่ไปนั่งตรงนั้น เป็นบอร์ดก่อนที่ตนจะมารับตำแหน่งเป็นสิบๆ ปี เขาเป็นบอร์ดมาตั้งไม่รู้กี่รอบแล้ว แบบนี้จะเกี่ยวอะไรกับตน

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า ส่วนเงินที่ซื้ออาคารที่บอกว่าราคาประเมิน 3 พันล้านบาท แล้วสปส.ไปซื้อในราคา 7 พันล้านบาทนั้น จาการสอบถามคนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเคยมีการร้องเรื่องนี้ในช่วงที่มีการพิจารณา ราคาประเมิน 3 พันล้านบาท เป็นราคาประเมินตอนวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 แล้วคนที่ซื้อมาลงทุน มีการรีโนเวท ปูกระเบื้อง ติดแอร์อย่างไรนั้น ตนไม่รู้เรื่อง เนื่องจากการซื้อขายนั้นจะใช้การประเมินโดยบริษัทที่มีใบอนุญาตจากตลาดหลักทรัพย์เป็นผู้ประเมินรายได้ที่จะเข้ามา ซึ่งตนก็ไม่ทราบเพราะตนไม่ได้อยู่ในบอร์ด ซึ่งเมื่อถามกลับไปว่ากรรมการบอร์ดมีใครบ้าง ก็จะมีตัวแทนจากตลาดหลักทรัพย์ ตัวแทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย ตัวแทนองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องกับการเงิน เป็นต้น แต่คนที่ออกมาพูดเรื่องนี้ไม่มีความรู้ มาพูดว่าทำไมไม่ลงทุนตรง ทำไมไปซื้อผ่านกองทุนทรัสต์ ก็เนื่องจากว่า สปส.ไม่มีเจ้าหน้าที่ที่รู้เรื่องการบริหารการตลาด จึงต้องบริหารผ่านกองทุนทรัสต์

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ตนได้สอบถามเมื่อเช้า (10 มี.ค.) ถึงการเช่าที่ ได้รับคำตอบว่า เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด 60% มีการเช่าอยู่ 50% และถามต่อว่าทำไมถึงขาดทุน ก็เหมือนเรามีอพาร์ตเมนต์ให้คนเช่าฟรีก่อน 2–3 เดือนแรก เป็นการทำการตลาดที่ช่วงแรกมีคนเช่าน้อย แต่ตอนนี้รายได้ที่เข้ามามันมีกำไรเป็นบวกหมดแล้ว ส่วนคนที่ออกมาพูดว่า การลงทุนคืนทุน 30 ปีนั้น บ่งบอกว่าไม่มีความรู้เรื่องการลงทุน ซึ่งประกันสังคมลงทุนเพื่อเอาผลตอบแทนรายปี ที่มากกว่าการฝากธนาคาร ได้ดอก 50 สตางค์ต่อปี แต่เอามาลงทุนตรงนี้ได้ผลตอบแทน 3-5% ต่อปี ทั้งนี้เพื่อเอาเงินมาเสริมสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนด้านต่างๆ ดังนั้นเขามีกรอบการลงทุน

“อสังหาฯ ที่เขาไปลงทุนนั้น การซื้อตึก ซื้อที่ตรงนั้น ถามว่าค่าก่อสร้างขึ้นทุกปีไหม อนาคตจะซื้อราคานี้ได้ไหม แล้วอีก 10 ปี ตึกราคาขึ้นไปเป็น 1.2 หมื่นล้านบาท ถามว่าได้กำไรทั้งตึก ทั้งผลตอบแทนไหม ผมถามแค่นี้ ส่วนคนพูดไม่ใช่นักลงทุน ไม่มีความรู้ แล้วก็ไม่รู้ว่ามาเกี่ยวโยงกับผมอย่างไร หรือเป็นเพราะเหตุผลทางการเมืองที่ผมต้องแข่งขันกับนายสหัสวัต ที่จังหวัดชลบุรีหรือเปล่า” นายสุชาติ กล่าว

เมื่อถามว่า มีการทิ้งประเด็นให้ตรวจสอบเรื่อง “ใคร” เป็นเจ้าของอาคารดังกล่าว นายสุชาติ กล่าวว่า ไม่ทราบ เพราะการซื้อตึก ซื้ออะไร รัฐมนตรีรู้ไม่ได้อยู่แล้ว ถ้ารู้ก็จะมีปัญหาผิดกฎหมาย และตนก็ไม่ได้อยู่ในบอร์เด บอร์ดนั้นมีผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายสาขาอาชีพ พูดด้วยความสัตย์จริงว่าไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของตึก รู้อย่างเดียวว่า เขาลงทุนไปแล้ว ผลตอบแทนได้เท่าไหร่ ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ประกันสังคมหรือไม่

เมื่อถามต่อว่า มีการตั้งคำถามว่า เจ้าของอาคารอาจจะมีความใกล้ชิดกับนักการเมือง รวมถึงตัวนายสุชาติเองด้วยหรือไม่ นายสุชาติ กล่าวว่า “ผมไม่รู้จัก มาเช็กโทรศัพท์เลย หรือเช็กได้เลยว่าผมรู้จักเขาหรือเปล่า ผมยังไม่รู้เลยว่าเป็นใครจนถึงทุกวันนี้ แล้วบอร์ดลงทุนผมก็ยังไม่รู้เลยว่ามีใครบ้าง รู้อย่างเดียวว่าเป็นตัวแทนขององค์กรนี้ๆ นี่มันเป็นเรื่องการเมืองน้ำเน่า”

เมื่อถามย้ำว่า เหตุใดจึงทุ่มซื้อตึกนี้ที่เดียว ไม่มีการแบ่งการลงทุนจุดอื่นบ้าง นายสุชาติ กล่าวว่า จากการสอบถาม จะมีการลงทุนในประเทศ และนอกประเทศ เช่น หากมีการลงทุนตึกที่สิงคโปร์ มีคนเช่า 100 เปอร์เซ็นต์ก็กำไรมหาศาล แต่วันนั้นที่เขาไปลงทุนสิงคโปร์ เพราะวันนั้นเงินบาทแข็ง พอเงินบาทอ่อน กำไรก็เหลือ 20–30 เปอร์เซ็นต์ นี่คือวิธีการคิดของนักลงทุน ซึ่งมีการลงทุนนอกประเทศหลายหมื่นล้านบาท เป็นแสนล้านบาท ส่วนการลงทุนในประเทศเป็นการประกันความเสี่ยง ทั้งเงินฝาก ลงทุนหุ้น เซ็ต 50 เซ็ต 100 ลงทุนสินทรัพย์ในประเทศ นอกประเทศ ผ่านกองทุน ตนถามกลับคำหนึ่งว่า ตึกที่ซื้อนี้ เป็นทรัพย์สินของประกันสังคม ที่ดินขึ้นราคาทุกวันไหม แล้วยังเป็นที่เช่าด้วย วันหนึ่งราคาขึ้นขายได้กำไรมหาศาล แถมได้ค่าเช่าด้วย แบบนี้ไม่ถือว่าคุ้มหรือ แล้วคุณมาบอกว่าคืนทุน 30 ปี แล้วไม่คิดหรือว่า ในอีก 30 ปี ตึกนี้ราคาจาก 7 พันล้านบาท จะขึ้นเป็น 2 หมื่นล้านบาท

“ผมขอตั้งคำถามกลับด้วยว่า สิ่งที่คุณพูดมาทั้งหมด มีการกล่าวหาคนนั้น คนนี้ก็ขอให้รับผิดชอบในคำพูดของตัวเองด้วย” นายสุชาติ กล่าว และว่า บริษัทที่เขาประเมินราคาตึกนี้ เขาประเมินราคาเท่าไหร่ คุณได้ไปดูหรือไม่ เขาต่างประเมินกัน 7-8 พันล้านบาท แล้วที่ตนเพิ่งตรวจสอบมาเมื่อเดือน ธ.ค. 2567 ก็ประเมินขึ้นสูงไปอีก เพราะราคาที่ดินเพิ่มสูงขึ้นไปอีก รวมถึงเรื่องเงินสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่มีการเก็บเงินสมทบ 750 บาท ต้องนำไปใช้ในการดูแลสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน 7 ตะกร้า ถึงจำเป็นต้องลงทุนเพื่อให้มีเงินเพิ่มมาดูแลสิทธิประโยชน์เหล่านี้ จริงๆ ต้องให้เขามาเป็นรัฐมนตรีแรงงาน แล้วเขาจะรู้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้พยายามโทรศัพท์ไปสอบถามนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะอดีตเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมในขณะนั้น ซึ่งถูกพาดพิงถึงกรณีปัญหาการบริหารกองทุนประกันสังคม แต่ตอนนี้ยังไม่สามารถติดต่อนายบุญสงค์ได้.