ยังคงเป็นที่จับตามองของสังคมไทยอยู่ในขณะนี้ สำหรับกรณีการเสียชีวิตของ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ ผู้กำกับโจ้ เสียชีวิตภายในเรือนจำ ด้วยการผูกคอกับลูกกรงภายในห้องขังแยก ท่ามกลางข้อสงสัยของประชาชน เรื่องการถูกผู้คุมทำร้ายระหว่างอยู่ในที่คุมขัง
เช่นเดียวกับ นายอริย์ธัช วรโรจน์เจริญเดช หรือเบนซ์ เรซซิ่ง ที่ได้ออกมาแสดงความเห็นล่าสุดเมื่อวันที่ 11 มี.ค. โดยระบุว่า “เมื่อวานนี้ ขณะที่ผมโดยสารรถ น.เขต ของมูลนิธิร่วมกตัญญูมุ่งหน้าไปช่องไทยรัฐทีวี (เนื่องจากรถของผมเสีย) ผมได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่นำร่างของอดีต ผกก.โจ้ ออกจากเรือนจำ รวมถึงได้รับข้อมูลจากแหล่งข่าวหลายแห่ง ซึ่งเชื่อว่าหลายคนคงมีคำถามมากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้”
ข้อสงสัย: มีการสลับตัว หรือเสียชีวิตจริง?
เป็นไปได้หรือไม่? แน่นอนว่าในทางทฤษฎี ทุกอย่างสามารถตั้งข้อสงสัยได้ แต่ในความเป็นจริง เรื่องนี้ไม่ง่ายเหมือนในภาพยนตร์ การลักลอบสลับตัวผู้ต้องขังโดยไม่มีใครล่วงรู้ แทบเป็นไปไม่ได้ เพราะต้องอาศัยการสมรู้ร่วมคิดจากเจ้าหน้าที่หลายฝ่าย และความเสี่ยงก็มหาศาล เพราะสุดท้าย เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องย่อมต้องรับโทษแทน นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่กู้ภัยที่เข้าไปนำร่างของอดีต ผกก.โจ้ ออกมาได้ยืนยันว่าเป็นตัวจริง พร้อมทั้งเป็นผู้ปั๊มลายนิ้วมือทั้ง 10 นิ้วเพื่อส่งให้พนักงานสอบสวน หากใครยังคาใจ อาจตรวจสอบที่วัดในพิธีรดน้ำศพ ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ไม่ยาก
ถ้าเสียชีวิตจริง แล้วเป็นการจัดฉากหรือทำเอง?
กล้องวงจรปิดจะเป็นหลักฐานที่ชัดเจนที่สุด (หากไม่มีการตัดต่อ) ตั้งแต่เวลาที่อดีต ผกก.โจ้ เดินเข้าไปในห้องขังหมายเลข 50 จนถึงช่วงที่เจ้าหน้าที่พบร่างในเวลา 20:30 น. ในช่วงเวลาดังกล่าว มีใครเปิดห้องขัง หรือเข้าไปในห้องหมายเลข 50 หรือไม่? ตามระเบียบเรือนจำ หลังจากเก็บขังผู้ต้องขังครบทั้งหมด กุญแจห้องขังจะถูกนำไปเก็บรวมที่ปกครองกลางเพื่อความปลอดภัย ไม่มีผู้คุมคนใดสามารถเปิดประตูห้องขังได้เอง ยกเว้นในกรณีฉุกเฉิน เช่น ผู้ต้องขังป่วยหนักและต้องรีบนำส่งสถานพยาบาล

ขนาดของผ้า และลักษณะของการเสียชีวิต
เรือนจำมีกฎห้ามนำผ้าเช็ดตัวผืนใหญ่ขึ้นเรือนนอน เพื่อลดความเสี่ยงในการใช้เป็นอุปกรณ์ทำร้ายตัวเองหรือผู้อื่น อย่างไรก็ตาม ด้วยจำนวนผู้ต้องขังที่มาก อาจมีสิ่งของบางอย่างเล็ดลอดการตรวจสอบไปได้ ส่วนการเสียชีวิตในลักษณะ “นั่งผูกคอ” สามารถเกิดขึ้นได้จริง และตัวผมเองก็เคยพบเหตุการณ์ในลักษณะนี้มาก่อน คนที่ตั้งใจทำจริง ๆ สามารถทำได้ แม้อาจใช้เวลานานกว่าการแขวนคอแบบขาลอยก็ตาม
ในท้ายที่สุด หากสังคมยังคงมีข้อสงสัย กรมราชทัณฑ์จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา และหากพบว่ามีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับการกระทำมิชอบ ไม่ว่าจะเป็นการละเลยต่อหน้าที่หรือการกระทำโดยมิชอบ ก็ควรมีมาตรการลงโทษที่จริงจัง เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้ยังคงมีประเด็นอื่น ๆ อีกที่น่าสนใจไว้มาต่อตอนต่อไปครับ..
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @Akarakit Worarojcharoendet