จากกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ รพ.รามาธิบดี ทำให้บุคลากรในโรงพยาบาลต้องเร่งทำการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากพื้นที่ ท่ามกลางฝุ่นควัน ก่อนพบว่าอาคารหลักของโรงพยาบาล ได้รับความเสียหาย นั้น
ล่าสุด เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 68 ทางโรงพยาบาลรามาธิบดี ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 เพื่ออัปเดตสถานการณ์ ระบุว่า จากกรณีที่มีกลุ่มควันและเพลิงไหม้เกิดขึ้นที่ อาคารหลัก (อาคาร 1) ของโรงพยาบาลรามาธิบดีเมื่อวันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ชี้แจงออกประกาศฉบับที่ 1 ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปแล้วนั้น
วันนี้ ทางคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการอพยพย้ายผู้ป่วยไปยังจุดปลอดภัย จำนวนครบถ้วน 191 ราย โดยเป็นการอพยพย้ายภายในโรงพยาบาล
จากเหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการสูดเขม่าควัน 1 ราย ซึ่งเป็นบุคลากรที่เข้าไปช่วยเหลือในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ผู้ได้รับบาดเจ็บดังกล่าว ได้รับการดูแลอยู่ในหอผู้ป่วยวิกฤต (ICU) และได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด
ผลกระทบดังกล่าว ทำให้คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับผลกระทบในการให้บริการด้านรังสีวิทยาและพยาธิวิทยา ฝั่งอาคารหลัก (อาคาร 1) โดยเบื้องต้นการให้บริการด้านรังสีวิทยาและพยาธิวิทยาบางส่วนต้องย้ายไปให้บริการที่อาคารสมเด็จพระเทพรัตน์เป็นการชั่วคราว
ทั้งนี้ จากข้อกังวลเรื่องรังสีรั่วไหล ทางทีมวิศวกรรมได้ตรวจสอบแล้วไม่พบการรั่วไหลของรังสี สำหรับด้านการให้บริการทางพยาธิวิทยา ได้แก่ การบริจาคโลหิต ในขณะนี้ ทางคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ขอขอบคุณผู้ที่ประสงค์จะบริจาคแต่เนื่องจากหน่วยคลังเลือดมีพื้นที่ในการรับบริจาคโลหิตอย่างจำกัด อาจจะไม่ได้รับความสะดวก
ทั้งนี้ การเปิดให้บริการหน่วยต่าง ๆ ภายในอาคารหลัก (อาคาร 1) ชั้น 1-9 ฝั่งใต้ ยังคงปิดให้บริการเพื่อทำการระบายกลิ่นและกลุ่มควันออกจากอาคารอย่างต่อเนื่อง
ทางคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จะดำเนินการลดจำนวนผู้ป่วย การผ่าตัด ผู้ป่วยที่ไม่เร่งด่วนออกไป ภายใน 1-2 วัน โดยหากสามารถดำเนินการได้ปกติจะมีการประกาศต่อไป
ต้องขอขอบคุณความช่วยเหลือจากทุกภาคส่วน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงบรรเทาสาธารณภัย กำลังจากตำรวจ ทหาร ที่เข้ามาช่วยเหลือ รวมทั้งสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้เคียงที่พร้อมจะรับผู้ป่วยไปดูแลต่อและต้องขอบคุณบุคลากรของคณะฯ ทุกท่าน ที่ได้เข้ามาช่วยเหลือกันเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับความปลอดภัยทุกคน บุคลากรทุกท่านทำงานอย่างมืออาชีพตามแผนที่ได้ซ้อมไว้ และยังช่วยกันแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า จนสามารถกลับมาดูแลผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่อง.
