เมื่อเวลา 11.40 น. วันที่ 13 มี.ค. 68 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ปรากฏว่าในระหว่างการประชุม นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ได้ลุกขึ้นขอหารือว่า อยากได้ความชัดเจนกรณีประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหนังสือตอบกลับข้อโต้แย้งฝ่ายค้าน เมื่อวันที่ 12 มี.ค. นี้ ที่ระบุว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎร ยินดีให้แก้ถ้อยคำในญัตติ เนื่องจากการแก้คำไม่กระทบสาระสำคัญในญัตติ หากยอมปรับคำตามที่ประธานนำเสนอ อยากทราบว่าในวันอภิปรายจริง จะมีสิทธิอภิปรายเนื้อหาเต็มที่ โดยไม่ถูกเบรกใช่หรือไม่ ข้อบังคับระบุว่า อภิปรายชื่อบุคคลภายนอกได้ หากไม่สร้างเสียหาย หรือถ้าสร้างความเสียหาย ผู้อภิปรายเป็นผู้รับผิดชอบเอง การไม่ให้ระบุชื่อนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถ้าพวกตนปรับคำในญัตติหมายความว่า สามารถพูดชื่อบุคคลใดๆ ก็ได้ในการอภิปราย โดยเป็นผู้รับผิดชอบการกระทำเอง ประธานจะไม่ใช้อำนาจขัดขวางใช่หรือไม่

ทำให้นายวันมูหะมัดนอร์ ตอบกลับว่า ถ้าอภิปรายภายใต้ข้อบังคับ อภิปรายได้เต็มที่ ไม่มีใครขวาง การไม่เอ่ยชื่อบุคคลภายนอก ไม่ได้หมายถึงเฉพาะนายทักษิณ จะเป็นใครที่เป็นคนภายนอกก็อภิปรายไม่ได้ การพูดอาจไม่ต้องใช้ชื่อท่าน ใช้อย่างอื่นคนก็รู้ได้ จะประท้วงก็ไม่ได้ จะให้ประธานสัญญาล่วงหน้าไม่ได้ว่า จะไม่ห้ามเมื่อเอ่ยถึงคนนอก ต้องทักท้วงได้ สมัยนายชวน หลีกภัย เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เคยแก้ไขญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตามที่นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในขณะนั้นแนะนำ ทั้งที่นายชวน ก็ไม่เห็นด้วย แต่ให้ความร่วมมือให้การประชุมดำเนินไปด้วยดี

ด้านนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เสนอว่า อยากให้ประธานใช้ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ข้อ76 ที่อนุญาตให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี เอาบุคคลภายนอกมาชี้แจงได้ เพื่อความสบายใจและความเป็นธรรมของนายทักษิณ ประธานสภาผู้แทนราษฎร แค่ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ว่าอนุญาตให้นายกรัฐมนตรีพาบิดามานั่งชี้แจงร่วมด้วย จะเป็นธรรมกับทั้งนายกรัฐมนตรีและบิดา ที่ชื่อทักษิณด้วย

จากนั้นนายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ขอชี้แจงหลังถูกพาดพิงว่า สมัยที่ตนเป็นผู้นำฝ่ายค้าน และมีการขอให้แก้ไขถ้อยคำในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น ไม่ได้เกี่ยวกับการเอ่ยชื่อบุคคลใด ถ้อยคำที่ให้แก้ไขคือ การระบุว่า รัฐบาลกดขี่ข่มเหงข้าราชการ ทั้งที่ไม่ควรต้องแก้ไข แต่ขณะนั้นรัฐบาลกลัวฝ่ายค้านมาก ต้องเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร มาสู้กับตน เมื่อประธานสภาผู้แทนราษฎรขอให้แก้ไข คำว่า “”กดขี่ข่มเหงราชการ” จึงแก้เป็น “รัฐบาลชอบอำนาจบาตรใหญ่ ข่มเหงรังแกประชาชน” แก้แล้วหนักกว่าเดิม แต่ประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถให้แก้เป็นครั้งที่ 2 ได้ ทำให้การอภิปรายวันนั้น อภิปรายไปทั้งข้อความกดขี่ข่มเหงราชการ และข้อความแก้ไขใหม่ ไม่ได้เกี่ยวกับชื่อบุคคล
นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวว่า ถ้าประธานใช้ดุลพินิจห้ามใส่ชื่อบุคคลภายนอก ต่อไปจะเป็นบรรทัดฐานการใช้อำนาจของประธาน ได้ไปค้นคว้าข้อมูลกว่า 40 ปี ตั้งแต่มีสภา มีหลายครั้งที่มีการพาดพิงบุคคลภายนอก ถ้าประธานบอกว่า ควรถอดชื่อ โดยอ้างถึงความบกพร่อง ในมุมพวกตนมองว่า ความบกพร่องควรอยู่ในรูปแบบ เช่น ลายเซ็นไม่ครบ ไม่ถูกต้อง ถ้าเป็นการใส่ชื่อบุคคลภายนอก เราไม่เห็นด้วยการใช้ดุลพินิจแบบนี้
หลังการอภิปรายพอสมควร ท้ายที่สุด นายวันมูหะมัดนอร์ ชี้แจงว่า “ถ้าผมทำผิด ก็ยินดีให้ดำเนินการตาม มาตรา 157 ได้ ไม่มีปัญหา”.